ส่องมาตรการจากนานาประเทศ ป้องกันการระบาดโควิด 19

0
601
kinyupen

เพราะการออกนอกบ้านไปพบปะผู้คนจำนวนมากอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ออกไปจำนวนมาก รัฐบาลในหลายประเทศจึงขอให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้านเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ในการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในที่สุด

 

แต่การออกมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก นานาประเทศคิดค้นมาใช้เพื่อป้องกันการออกนอกบ้านของประชาชน ที่แตกต่างออกไป เพื่อไม่ให้กฎหมายกลายเป็นปัญหากระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนมากเกินไป และเหล่านี้คือมาตรการที่สำนักข่าวบีบีซี ได้รวบรวมมาได้นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

 

ที่ประเทศ ปานามา รัฐบาลออกมาตรการให้ผู้ชายและผู้หญิงออกนอกบ้านคนละเวลากัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ผู้ชายและผู้หญิงต้องออกนอกบ้านคนละวัน และครั้งละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยวันอาทิตย์ห้ามไม่ให้ใครออกนอกบ้านเลยต้องอยู่แต่บ้านกันทั้งครอบครัว

 

ในขณะที่รัฐบาลประเทศโคลอมเบีย มีข้อกำหนดออกจากบางเมืองของประเทศว่าผู้ที่จะออกนอกบ้านได้จะต้องดูตามเลขบัตรประชาชนตัวสุดท้าย ตัวอย่าง เช่น ชาวเมืองบาร์รันกาเบอร์เมฮา คนที่เลขบัตรประชาชนลงท้ายด้วย 0, 7 และ 4 สามารถออกจากบ้านได้วันจันทร์ ส่วนคนที่เลขบัตรลงท้ายด้วย 1, 8 หรือ 5 ออกจากบ้านได้วันอังคาร ซึ่งจะลดจำนวนผู้คนให้ออกมานอกบ้านได้วิธีหนึ่ง

 

ในประเทศเซอร์เบีย ยกเลิกเวลาอนุญาตให้นำสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ที่ก่อนหน้านี้กำหนดให้มีเวลาระหว่าง 2 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม แต่ก็ยกเลิกไปแล้วแต่มาตรการนี้ดูเหมือนจะถูกต่อต้านจากคนรักสุนัขและสัตวแพทย์ที่ออกมาบอกว่าการไม่ได้นำสุนัขออกไปเดินเล่นอาจจะส่งผลถึง ปัญหาระบบปัสสาวะของน้องหมาเหล่านี้ที่ปกติก็มีปัญหาอยู่อยู่แล้วยิ่งอาการแย่เข้าไปใหญ่ และยิ่งทำให้สุขอนามัยในบ้านผู้เลี้ยงแย่ลง

 

ส่วนที่ประเทศเบลารุส ประธานาธิบดีแนะนำว่าการดื่มวอดก้าและอบซาวน่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ โดยประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส ไม่เชื่อว่าประเทศต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยบอกว่าเขาไม่เห็นไวรัสลอยไปมาในอากาศเลย แถมตอนที่เขาไปดูฮอกกี้น้ำแข็งว่า คนที่มาดูกีฬาล้วนสุขภาพดีเพราะความเย็นในสนามจะสกัดไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่านี่เป็นเรื่องจริง และมนุษย์เราก็ไม่สามารถเห็นไวรัสโคโรนาด้วยตาเปล่าได้ ซึ่งการออกมาแสดงความคิดเห็นแบบนี้ก็ถูกชาวโลกตำหนิไปพอสมควร

 

สำหรับสวีเดน ยังไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เข้มงวดนัก โดยพวกเขาหวังว่าประชาชนจะประพฤติตัวเองอย่างเหมาะสมและมีความรับผิดชอบ เพราะชาวสวีเดนมักจะมีความรับผิดชอบของตัวเองเมื่อป่วยจะไม่ออกมาเดินนอกบ้าน ดังนั้นประชาชนที่เดินอยู่ตามท้องถนนจึงถือว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี แต่อย่างไรก็ตามเชื้อโคโรนาอาจจะไม่ได้แสดงอาการแม้ผู้นั้นจะติดเชื้อก็ตามแต่การนำเสนอเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในความรับผิดชอบของประชากรสวีเดน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการประกาศห้ามคนมากกว่า 50 คนขึ้นไปชุมนุมแล้ว แต่โรงเรียนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ยังเปิดอยู่ ผับและร้านอาหารก็ยังเปิดให้ลูกค้าเข้าไปกินดื่มได้อยู่ ประชาชนก็ยังสังสรรค์ไปมาหาสู่ตามปกติ แต่ก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับวิธีรับมือนี้ คงต้องรอดูกันว่ามาตรการแบบนี้จะส่งผลดีหรือเสียกันแน่

 

ส่วนที่มาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซียต้องออกมาขอโทษหลังจากที่กระทรวงการพัฒนาสตรีและครอบครัวโพสต์รูปการ์ตูนในโลกออนไลน์ แนะนำให้ผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ แต่งหน้าทาปาก และหยุดบ่นสามีในช่วงที่ต้องปิดประเทศบางส่วนเพื่อให้พ่อบ้านอยู่บ้าน แต่ก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อ โดนคนในโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องลบโพสต์การรณรงค์นี้ทิ้งไป

 

ส่วนเติร์กเมนิสถาน มีมาตรการรับมือไวรัสโคโรนาที่ดูน่าตกใจกว่าประเทศอื่น เพราะรัฐบาลสั่งให้ห้ามเขียนคำว่า โคโรนาไวรัส ไว้ในเอกสารสาธารณสุข โดยข่าวนี้หลุดรอดออกมาจากเว็บไซต์ข่าวอิสระ เดอะเติร์กเมนิสถาน ครอนนิเคิล (Turkmenistan Chronicle) ซึ่งถูกบล็อกในประเทศ บอกว่ารัฐบาลได้ลบคำว่าไวรัสโคโรนาออกจากแผ่นพับให้ความรู้ด้านสาธารณสุข นักข่าวที่ทำงานให้กับช่องรายการวิทยุอาซาตลิค (Radio Azatlyk) บอกว่า คนที่พูดถึงไวรัสโคโรนา หรือใส่หน้ากากอนามัย อาจโดนจับกุมตัวได้ ทางการเติร์กเมนิสถานบอกว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศแม้ว่าจะอยู่ติดกับอิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาหนักที่สุดประเทศหนึ่ง

 

kinyupen