EXIM BANK ประสบความสำเร็จในการเสนอขายพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐ มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.354% ต่อปี ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนชั้นนำทั่วโลก ด้วยยอดจองซื้อสูงกว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการเสนอขายพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.354% ต่อปี มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกทั้งจากภูมิภาคยุโรปและเอเชียอย่างท่วมท้น ด้วยยอดจองซื้อสูงกว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเดินหน้าสู่บทบาท Green Development Bank ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและโลกโดยรวม
การระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐของ EXIM BANK ในครั้งนี้นับเป็นการออกและเสนอขายพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในปีนี้ของผู้ออกตราสารหนี้จากประเทศไทย และมียอดจองซื้อสูงสุดสำหรับการออกพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 ของสถาบันการเงินจากภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันคุณภาพชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 130 ราย ได้แก่ ธนาคารกลาง กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) บริษัทบริหารเงินลงทุน ธนาคาร และบริษัทประกัน
พันธบัตรดังกล่าวจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Moody’s และ Fitch ที่ระดับ Baa1 และ BBB+ ตามลำดับ โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตร ได้แก่
BNP Paribas, Mizuho Securities Asia Limited, Standard Chartered Bank (Singapore) Limited และ The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited, Singapore Branch
“เงินที่ได้จากการออกพันธบัตรในครั้งนี้ EXIM BANK จะนำไปใช้รองรับการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจและทุกอุตสาหกรรม เติมเต็ม Supply Chain การส่งออกไทย รวมถึงการสนับสนุนการปรับตัวทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและรับมือความท้าทายของตลาดโลกได้ โดยเชื่อมโยงการพัฒนาธุรกิจกับการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน และแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดการค้าโลก” ดร.รักษ์ กล่าว