ประชากรในประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะที่มีจำนวนการเกิดลดลง ขณะที่จำนวนการตายกลับพุ่งสูงขึ้นติดต่อกันนานกว่า10 ปี โดยตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการตายมากกว่าเกิดเป็นครั้งแรก สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่งในอีก 60 ปีข้างหน้า
ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66,090,475 คน เป็นสัญชาติไทย 65,106,481 คน เป็นผู้หญิงมากกว่าชาย โดยประชากรชาย 31,755,072 คน หญิง 33,351,449 คน และประชากรที่ไม่ได้สัญชาติไทยอีก 983,994 คน แบ่งเป็นชาย 515,583 คน และหญิง 468,411 คน
แต่หากพิจารณาจากสถิติประชากรไทย จะพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดมีแนวโน้มปรับลดลงเรื่อย ๆ ในทางกลับกัน อัตราการตายกลับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ( ปี 2557-2566 ) พบว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่มีทิศทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมในปี 2557 มีจำนวนมากกว่า 7 แสนคน ลดเหลือเพียง 517,934 คนในปี 2566 สวนทางกับยอดคนตาย ที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 1 แสนคนในรอบ 10 ปี
โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประชากรไทยมีจำนวนคนเกิด 517,934 คน ขณะที่มีจำนวนคนตายถึง 565,965 คน ซึ่งมากกว่าคนเกิดอยู่ที่ 48,058 คน และเมื่อพิจารณาจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66.09 ล้านคน พบว่า มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 7.8 และอัตราการตายเท่ากับ 8.6 ต่อประชากร 1,000 คน
จากสถิติดังกล่าว ถือเป็นปรากฎการณ์การลดลงของประชากร (Depopulation) สาเหตุหลักก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า คนไม่อยากมีลูก น่าจะเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่มีผลต่อการดำรงชีวิต การมีบุตรเป็นภาระที่หนักขึ้น มีผลต่อค่านิยมทางสังคม อาทิ การมีงานทำของสตรีที่มีจำนวนและอัตราที่สูงขึ้น อายุแรกสมรสของคู่สมรสที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หมายถึงสมรสเมื่ออายุมากขึ้น การที่สตรีไทยมีบุตรคนแรกในวัยที่สูงกว่าในอดีต ตามด้วยแนวโน้มของการเป็นโสดที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตโดยไม่อยากมีบุตรเป็นภาระ
ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ใน 60 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยคาดว่า ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) จะลดลงจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่คนสูงวัย 65+ เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ
หากเป็นไปตามแนวโน้มเช่นนี้ อนาคตของประเทศไทยน่าจะอยู่ในภาวะลำบาก มีคนแก่เต็มเมือง เหมือนที่ญี่ปุ่นประสบอยู่ในขณะนี้ ที่น่าหนักใจคือ คนวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญ ในฐานะผู้จ่ายภาษีให้กับประเทศ กลับลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 ของปัจจุบัน สะท้อนภาวะรายได้ลดลง ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่จะต้องจัดหามาดูแลประชากรผู้สูงวัย
รัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก คือ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ดูแลการจัดเก็บรายได้ และกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ดูแลให้มีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นให้แซงหน้าประชากรเสียชีวิต
เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน!!