ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท.ได้สนับสนุนผลงานวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี : จากต้นทุนนิเวศวัฒนธรรมสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อวิถีวัฒนธรรมและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ของคณาจารย์คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเจตนารมย์การสนับสนุนทุนวิจัยของบพท. ที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานราก
รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดีฯ กล่าวว่า โครงการสมุทรสงครามอยู่ดีฯ เป็นโครงการวิจัยเพื่อแสวงหาข้อมูล และพัฒนาชุดความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานนิเวศวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2564 โดยการขับเคลื่อนกระบวนการวิจัย เริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลท้องถิ่นอย่างละเอียด และลงสำรวจพื้นที่จริง ร่วมกับภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะเทศบาลตำบลอัมพวา องค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง และชุมชนบางสะแก โดยบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ แล้วนำข้อค้นพบมาออกแบบเป็นชุดความรู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
นายกฤษฎี กลิ่นจงกล นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ผลงานวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดีฯ จะเป็นองค์ความรู้สำคัญในการฟื้นฟูจิตวิญญาณของอัมพวาให้กลับมามีชีวิตชีวาได้ และสามารถขับเคลื่อนพัฒนาเมื่อได้เร็วขึ้น โดยทางเทศบาลจะนำไปต่อยอดใน 2 เรื่อง คือ 1.การท่องเที่ยวทางน้ำ 2.งานด้านศิลปวัฒนธรรม
“ช่วงโควิด-19 แม้ว่าจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวอัมพวาซบเซาลง แต่ในขณะเดียวกัน ทำให้เกิดอานิสงส์ในการลดปัญหาความแออัด ไม่เป็นระเบียบของตลาดอัมพวาไปด้วย เพราะที่ผ่านมาคนต่างถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพจำนวนมาก ทำให้ที่ดินที่เป็นที่เช่าของชาวอัมพวามีราคาแพงขึ้นจนคนพื้นที่เช่าทำกินไม่ไหว ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่มักเป็นคนต่างถิ่นได้ประโยชน์ ขณะที่คนพื้นที่ก็ร่อยหรอลง ขนาดพื้นที่อัมพวา 2.5 ตร.กม. ประกอบด้วย 10 ชุมชน มีจำนวนประชากรเพียง 4 พันกว่าคนเท่านั้น”
นายกฤษฎีกล่าวว่า ในปลายเดือนตุลาคมนี้จะมีการฟื้นเรื่องตลาดน้ำ ตลาดเรือขึ้นมาใหม่ พร้อมกับมีแผนสร้างคนพายเรือให้ตลาดน้ำในอนาคต โดยให้นโยบายกับโรงเรียนว่า เด็กอัมพวาต้องว่ายน้ำได้พายเรือเป็น ขณะเดียวกัน สมุทรสงครามอยู่ดีฯ จะช่วยปูทางผลักดันคลองบางจาก ทำให้เกิดกิจกรรมนักท่องเที่ยวพายเรือเก็บขยะ ทางเทศบาลก็จะต่อยอดโดยนำเด็กนักเรียนทำอาชีพมัคคุเทศก์น้อย จัดกิจกรรม “พายไปกิน พายไปชิม พายไปอนุรักษ์” โดยคลองบางจากอยู่ใกล้อัมพวา มีต้นทุนที่ดีทั้งด้านอาหาร ขนม บ้านสวน โรงเจ นอกจากนี้ เทศบาลตั้งใจที่จะให้เรือทุกลำที่แล่นในคลอง ต้องปลอดจากเครื่องยนต์ เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นคลองปลอดคาร์บอน (Net Zero)
นายกฤษฎีกล่าวว่า ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรม จะมีการตั้งขมรมศิลปวัฒนธรรมอัมพวาขึ้น รวบรวมครูอาจารย์ที่รักในงานศิลปะ ทั้งโขน ครูดนตรีไทย ครูรำ และครูด้านต่าง ๆ มาสอนเด็กในเทศบาลฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการประกาศให้รับรู้กันว่า อัมพวาเป็นเมืองต้นกำเนิดของรามเกียรติ์ในเมืองไทย เพราะที่นี่คือที่ประสูติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ดังนั้น ทุกวันเสาร์อาทิตย์ จะจัดให้เด็กนักเรียนแต่งชุดโขนในรามเกียรติ์มาเดินทักทายนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า อัมพวาคือเมืองรามเกียรติ์