จากของหวานเย็นๆ กลายเป็น “ของร้อน” ขึ้นมาทันที เมื่อในโลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่โพสต์หนึ่งซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “เครื่องหมายการค้า” โดยโยงไปยังของหวานชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ “ปังชา” หรือเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน ดับความเย็นของปังชา ละลายกลายเป็นน้ำในทันที ถ้าอยากรู้ว่า ปังชา สร้างความร้อนในโลกออนไลน์ขนาดไหน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำประเด็นนี้มาเล่าให้ฟัง
ใครจะไปรู้ว่าชื่อเมนูของหวานที่เรารู้จักกันมานาน อย่างน้ำแข็งไสราดชาไทย หรือที่เรียกสั้นๆว่า ปังชา จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ โดยเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา โลกออนไลน์มีการแชร์โพสต์จากเพจข่าว “หมายจับกับบรรจง” ที่มีการนำเรื่องราวของผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาเดือดเนื้อ ร้อนใจ เนื่องจากเค้าได้รับโนติส (Notice) หนังสือบอกกล่าวมาฉบับนึง โดยเนื้อหาใจความก็คือ ขอให้หยุดใช้คำว่า “ปังชา” และคำว่า Pang Cha เพราะว่ามีผู้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาแล้ว แถมต้องช็อคหนักเข้าไปอีก เพราะในหนังสือบอกกล่าวนั้น แจ้งว่ามีการคิดค่าเสียหายจากการใช้คำว่า ปังชา อีกร้อยกว่าล้าน !! คุณพระคุณเจ้า
เรื่องนี้เลยกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างดุเดือดในโลกออนไลน์ รถทัวร์จอดพร้อม Stand by เตรียมออกในทันที พร้อมต่างแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกล่าวว่า คำว่า ปังชา คือชื่อเรียกสามัญทั่วๆไป ของเมนูน้ำแข็งไสประเภทนี้ ซึ่งใครๆก็สามารถใช้ได้ ไม่น่าจะจดทะเบียนการค้าเป็นชื่อเฉพาะของใครคนหนึ่งได้ โดยมีการเปรียบเทียบไปถึงเมนูอื่นๆ เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู หากมีคนไปจดทะเบียนการค้า คำว่า ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู จะเป็นยังไง ? เรื่องนี้จะกลายเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ จงใจให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า ปังชา ที่ขายนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์อื่นๆ มีการเลียนแบบโลโก้ร้าน ดัดแปลงให้คนอื่นเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสาขาหรือร้านในเครือ หรือแม้แต่ Copy รูปแบบจาน ชาม แก้ว ตรงแหละที่สมควรฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกเอกสารให้ความรู้แบบ Infographic อธิบายถึงเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า โดยกล่าวถึงกรณีของ “เครื่องหมายการค้า” ปังชา ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ว่า…
เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสีหรือเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความจดจำของผู้บริโภคในการแยกแยะแบรนด์ต่างๆ แต่เครื่องหมายการค้าคุ้มครองได้ตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากข้อความหรือภาพบางส่วนที่สื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าและบริการข้อความหรือภาพนั้นต้องถูก “สละสิทธิ” แต่ยังปรากฎบนเครื่องหมายการค้านั้นได้
การสละสิทธิ หมายถึงไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความหรือภาพนี้ในลักษณะอื่น แต่ถ้านำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้และเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ยังสามารถห้ามได้อยู่
ข้อความหรือภาพ ที่แม้จะสื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าก็อาจจดเป็นเครื่องหมายการค้าได้หากนำสืบได้ว่ามีการใช้มาต่อเนื่องยาวนานจนผู้บริโภคจดจำและแยกได้ว่าเป็นแบรนด์ของสินค้า
สรุป การใช้คำว่า “…ปัง…ชา..” หรือ “…ปังชา…” กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ โลโก้ ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ ก็เพียงพอแล้ว
เจ้าของร้านหลายๆคน อ่านแล้วคงสบายใจขึ้นมาบ้าง แต่ทางฝั่งที่ส่งหนังสือบอกกล่าว โนติส โนใจมานี่สิ พร้อมที่จะรับรถทัวร์กันแล้วใช่ไหม ?