สื่อเทศมองไทย ในวันที่ “พิธา” ก้าวไม่ข้าม!!

0
426
kinyupen

นับจากวันที่คนไทยได้กาบัตรเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็ล่วงมาเป็นเวลา 2 เดือนที่ ประเทศไทยยังไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเป็นทางการ ด้วยตัวบทกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอันซับซ้อนทำให้ทุกอย่างไม่ง่าย และเหตุการณ์นี้ก็เสมือนย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ที่พรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ แม้ได้คะแนนจากประชาชนสูงสุด ส่งผลให้สังคมเกิดกระแสเห็นต่างกันชลมุนวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างงัดเหตุผลของตนมาอ้างอิงสนับสนุนฝ่ายของตนกันมากมาย…นี่คือสถานการณ์อันร้อนแรงของการเมืองแบบไทยๆ ที่มองโดยคนไทย

            วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงนำบทความจากประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ 17 – พุธ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งได้รวบรวมความเห็นสื่อต่างประเทศ มาแชร์ให้ทราบกันว่าแต่ละประเทศมองสถานการณ์การเมืองไทย หลังการโหวตนายกฯ รอบแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมากันอย่างไรบ้าง ซึ่งก็สะท้อนจุดยืนของแต่ละแห่งที่มองประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ 

            เริ่มที่มุมมองจากฝั่งอเมริกากัน โดย เดอะ นิวยอร์กไทมส์ (NY Times) จากสหรัฐอเมริกามีรายงานข่าวโดยพาดหัวว่า “พันธมิตรของรัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งของไทย ทำให้ฝ่ายค้านอันดับต้นๆ ตกราง” ในข่าวเสนอบทสัมภาษณ์อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในไทย 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บรรยายภาพของสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ว่า “นี่คือเดจาวู”  ในวงจรการเมืองไทยแบบซ้ำ ๆ “เลือกตั้ง – ประท้วง – รัฐประหาร – ปราบปราม” ซึ่งเป้นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบวนลูปมาตั้งแต่ปี 2550

            นิวยอร์กไทมส์ ให้ความเห็นว่า แนวร่วมฝั่งก้าวหน้าของพิธาอาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความสูญเสีย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่อาจพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ นำโดยหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการจัดตั้งรัฐบาลของไทยกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะไทยเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคอาเซียนที่ตอนนี้หลายประเทศหันกลับไปใช้ระบอบเผด็จการอีกครั้ง ซึ่งไทยเคยเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของสหรัฐฯ แต่ตอนนี้เริ่มขยับเข้าใกล้จีนมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารชุดที่ผ่านมา

            พร้อมขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ไทยถูกครอบงำโดยสองขั้วอำนาจทางการเมือง ขั้วหนึ่งนำโดยกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มทหาร อีกขั้วคือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนักการเมืองสายประชานิยม ที่ถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารปี 2549 โดยปัจจุบันพรรคก้าวไกลมีพลังงานในแบบเดียวกับที่ขบวนการประชานิยมของทักษิณเคยทำ และความล้มเหลวในการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ดูเหมือนจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มนิยมเจ้าในไทยที่ขัดขวางนักการเมืองที่ได้รับความนิยม…นี่คือมุมมองจากฝั่งอเมริกา

            ข้ามฝั่งมาที่ยุโรป เริ่มจาก “เดอะ การ์เดียน” (The Guardian) ของอังกฤษ พาดหัว “ผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯของประเทศไทยถูกกีดกันจากอำนาจ” เนื้อหาระบุ หัวหน้าพรรคการเมืองในไทยที่ชูเรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าสู่อำนาจ โดยการลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดยทหาร “เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะกระตุ้นให้เกิดการประท้วงบนท้องถนน” พร้อมอ้างความเห็น รศ.ดร.พญชฎา สิริวัณณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า มีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคในครั้งที่สองหรือสาม หากพิธาได้รับการเสนอชื่ออีกครั้ง เขาก็ไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนมากพอ

            ขณะที่ “ดิ อินดีเพนเดนต์” (The Independent) จากอังกฤษเช่นกัน รายงานข่าวด่วนพาดหัว “ผู้นำหัวก้าวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ล้มเหลวในการลงมติให้เป็นนายกฯคนต่อไปของประเทศไทย” ก่อนที่ต่อมาข่าวนี้เปลี่ยนพาดหัวเป็น “รัฐสภาไทยลงมติไม่รับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำหัวก้าวหน้า เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” เนื้อข่าวมีส่วนที่อธิบายว่านโยบายแก้ไขกฎหมาย ม.112 เป็นความท้าทายที่สำคัญของพรรคก้าวไกล ทั้งคาดว่าเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อโหวตในรอบต่อไป

            ส่วน “รอยเตอร์” (Reuters) พาดหัวข่าว “ไม่ยอมแพ้-พิธาให้คำมั่นจะสู้ต่อไปหลังจากการเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ” เนื้อข่าวระบุว่า ความพ่ายแพ้เป็นระเบิดครั้งล่าสุด ในสองวันอันร้อนระอุของพิธาที่มีการร้องเรียนทางกฎหมายเขา 2 เรื่องก่อนการลงมติ รวมถึงคำแนะนำให้ตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งรอยเตอร์ยังบอกอีกว่า “คดีเหล่านี้เป็น จุดพลิกผันล่าสุดในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจตลอด 2 ทศวรรษที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร การแทรกแซงของศาล การยุบพรรค และการประท้วงบนท้องถนนที่มีการใช้ความรุนแรงในบางครั้ง”

            นอกจากนี้ รอยเตอร์ ยังกล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ดัชนี SET ลดลงแล้ว 11% ในปีนี้ สวนทางกับดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 5% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเป็น 5 เดือนติดต่อกัน นับถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 66 โดยมูลค่าขายสุทธิกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์

            มาต่อกันที่สื่อจากเยอรมนี “ดอยเชอ เวลเลอ” (DW) พาดหัวว่า “ประเทศไทย : ตัวเต็ง พิธา ล้มเหลวในการชิงตำแหน่งนายกฯ” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุ พิธาล้มเหลวในการเสนอชื่อชิงตำแหน่งเป็นนายกฯ ครั้งแรก พรรคแนวร่วมต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเขาอีกครั้งในการลงมติครั้งต่อไป วันที่ 19 ก.ค. หรือจะเสนอชื่อคนอื่น ซึ่งน่าจะมาจากพรรคเพื่อไทยพันธมิตรทางการเมืองอันดับต้น ๆ ของก้าวไกล โดยพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายคน รวมถึงแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีนักประชานิยม ที่ถูกโค่นอำนาจในรัฐประหารปี 2549

            พร้อมมีมุมมองเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารมานับสิบครั้ง และประสบกับความไม่มั่นคงทางการเมืองเป็นประจำในศตวรรษที่ผ่านมา อาจเผชิญภาวะชะงักงันหลายสัปดาห์ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ตามมา หากต้องจัดการประชุมหลายครั้งจนกว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้

            ข้ามกลับมากันที่ฝั่งเอเชียกันบ้าง เริ่มจาก “เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์” (South China Morning Post) จากฮ่องกง พาดหัวว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ยอมแพ้ หลังล้มเหลวในการโหวตเป็นนายกฯ” พร้อมให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของไทย เศรษฐกิจไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนล้าหลังเพื่อนบ้านในแง่ของการเติบโต ทั้งระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโควิด โดยความเสี่ยงเพิ่มเติมตอนนี้ คือ การประท้วงของผู้สนับสนุนพิธา อาจทำให้การท่องเที่ยวเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดียวของไทยที่ทำงานเต็มสูบตอนนี้ต้องเสียหาย

            ขณะที่ สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” เป็นสื่อที่ให้ความสนใจการเมืองไทยอย่างมาก โดยเปิดเซ็กชั่นพิเศษ “THAI ELECTION” ต่อเนื่องตั้งแต่ 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 พาดหัวรายงานข่าวชิ้นหนึ่งว่า “พิธาย้ำเรื่องปฏิรูปสถาบันก่อนโหวตนายกฯประเทศไทย”

            และเมื่อทราบผลการโหวตก็พาดหัวข่าวชิ้นต่อมาว่า “พิธาล้มเหลวในการได้รับเสียงข้างมากจากการโหวตนายกฯของไทย” โดยสื่อมีมุมมองว่าการลงมตินี้สะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับขบวนการประชาชน ที่ต้องการจะฟื้นฟูการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคาดจะกระทบเศรษฐกิจประเทศ หากการจัดตั้งรัฐบาลช้าออกไป เพราะจะส่งผลต่อการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลที่มีกำหนดในเดือนตุลาคมนี้

          เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจากสื่อต่างประเทศเทศที่มีต่อการเมืองไทย…แต่ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายแล้วใครจะได้ก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งของตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่ทัศนคติที่สะท้อนออกมาบนโซเชียลมีเดีย หรือ การเคลื่อนไหวต่างๆ ของกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายใดก็ตาม ก็บอกได้ว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม…ดังที่กล่าวกันมาจริงๆ

ภาพประกอบ : ประชาชาติธุรกิจ / Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here