สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เปิดเผยบทความ ทรรศนะของนักวิชาการต่อการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ของไทย ในหัวข้อ “16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย : สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด”
หนึ่งในบทความที่น่าสนใจ หัวเรื่อง “สวัสดิการคนไทย : แค่ไหนใช่ แค่ไหนพอ” โดยนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า
สิ่งที่เป็น
นโยบายด้านสวัสดิการ (ทางวิชาการเรียกว่านโยบายความคุ้มครองทางสังคม) สำหรับคนไทยเร่งตัวขึ้นมากในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะสังคมไทยสูงอายุอย่างรวดเร็ว และเป็นการ “แก่ก่อนรวย” บวก “แก่ก่อนเก่ง” (หมายถึงคนใกล้สูงวัยมีการศึกษาค่อนข้างน้อย) ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
เมื่อการเมืองเปิดกว้างขึ้น เสียงเรียกร้องและการตอบสนองของพรรคการเมืองจึงเป็นไปอย่างกว้างขวางและแข่งขันกันสูงในลักษณะ “เกทับ” กัน จนหลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าทำได้จริงหรือไม่ หรือถ้าฝืนทำจริงจะเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศจนรับไม่ไหวหรือเปล่า
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ อาจทำให้หลายคนมีศรัทธาน้อยลงต่อระบบการเลือกตั้งและประชาธิปไตยโดยรวม ว่าไม่ได้เป็นวิธีการที่นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศอย่างเหมาะควร เน้นการหาเสียงแบบประชานิยมเป็นหลัก
ศรัทธาที่น้อยลงนี้เป็นอันตรายต่อแนวคิดการพัฒนาประเทศโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นสาระหลักของนโยบายความคุ้มครองทางสังคมที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย กับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือกระทั่งยกระดับคุณภาพของระบบการเมืองเอง
ปัญหาที่เห็น
พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีข้อเสนอสวัสดิการในลักษณะเป็นชิ้น ๆ และกระจัดกระจาย กลุ่มเป้าหมายก็มีความ “หยาบ” ระดับหนึ่ง เช่น แม้จะระบุกลุ่มเด็ก คนวัยทำงาน คนแก่ ผู้พิการ แต่ข้อเสนอขาดความแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การให้เงิน แม้จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่มีหลายปัญหาที่เงินช่วยไม่ได้ ต้องการบริการภาครัฐอื่นในการดูแล ติดตาม วิเคราะห์ปัญหาเฉพาะราย เฉพาะครอบครัว
ที่สำคัญ ข้อเสนอมีความไม่สอดคล้องกับหลักคิดระบบสวัสดิการที่เหมาะกับสังคมไทย หลักคิดเหล่านี้ได้แก่
1.หลักคิด “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่เพียงการรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การปรับปรุงระบบประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งระบบนี้ประชาชนร่วมจ่ายด้วยตามกำลังความสามารถ
2.หลักคิด “พอเพียง เลี้ยงตัวได้” สวัสดิการที่ให้ควรพอดี ไม่น้อยไปจนไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้รับ แต่ไม่มากไปจนเสพติดและไม่คิดจะยืนบนลำแข้งตัวเอง การได้รับความช่วยเหลือต้องไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการทำงาน แต่ควรนำไปสู่การเพิ่มทักษะในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือผ่านกลไกรัฐ
3. หลักคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากสำหรับประเทศไทย เพราะเราจะมีคนน้อยลง และคนไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐ การพัฒนาคนไทยทุกคนอย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ตกหล่นแม้คนเดียว จะช่วยพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ดีที่สุด
4.หลักคิด “หุ้นส่วนสวัสดิการ” ภาคส่วนอื่นนอกเหนือภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการออกเงิน การบริหาร หรือการตรวจสอบ
5.หลักคิด “ความยั่งยืนทางการเงินการคลัง” ซึ่งหมายถึง การให้สวัสดิการไม่ควรมากเกินความต้องการผู้รับ ตามหลักพอเพียงข้างต้น และมีแนวทางในการหาแหล่งรายได้ เช่น การปรับเพิ่มภาษี โดยควรปรับภาษีในลักษณะที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปในตัวด้วย
6.หลักคิด “ประสิทธิภาพและประสิทธิผล” เช่น การปรับปรุงคุณภาพฐานข้อมูลคนจน การเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับสวัสดิการระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหา “คนจนตกหล่น” ไปพร้อม ๆ กัน
ประเด็นชวนคิด
ปัญหาข้างต้นนำไปสู่คำถามที่สังคมไทยควรใคร่ครวญมากมาย ตัวอย่างเช่น
จะเปลี่ยนทัศนคติสังคมเรื่องระบบความคุ้มครองทางสังคมจากแนวคิด “สงเคราะห์” มาเป็น “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” และเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร
ข้อเสนอพรรคการเมืองเรื่องใดมากไป เรื่องใดน้อยไป เรื่องไหนยังขาด
จะสร้างความยั่งยืนของระบบความคุ้มครองทางสังคมได้อย่างไรบ้าง (เช่นเพิ่มภาษี เกลี่ยงบประมาณใหม่ ทำให้ผู้รับสวัสดิการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ด้วยตนเอง) วิธีไหนควรทำเป็นลำดับแรก
จะแก้ปัญหาการตกหล่นของคนจน และกลุ่มเปราะบางตัวจริงที่ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อย่างแท้จริง
ควรมีระบบการส่งผ่านความต้องการที่แท้จริงของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ไปสู่นักการเมืองอย่างเหมาะสมอย่างไร โดยคำนึงว่าหากช่วยคนกลุ่มนึง กลุ่มอื่นก็อาจได้รับสวัสดิการน้อยลง เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนการเงินการคลังประกอบด้วย