ช่วงเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองออกนโยบายหาเสียง เอาใจประชาชนกันแบบสุด ๆ เรียกว่า นโยบายต้องโดนๆ ถึงจะเรียกร้องความสนใจ ให้ชาวบ้านลงคะแนนให้
แต่.. นโยบายไหน เวิร์กๆ ทำได้จริง หรือแค่ลมปาก สร้างเรื่องมหัศจรรย์ให้คนฟังฝันหวาน ฝันกลางวัน ลม ๆ แล้ง ๆ อันนี้ต้องคิด ตรึกตรองกันสักนิดก่อนจะหลงเชื่อ
ลองมาดูกันว่า นโยบายไหน ดีจริง หรือคิดไกล คิดใหญ่ แต่ทำแล้วสร้างผลเสียในอนาคตมากขนาดไหน
1.นโยบายพักหนี้
พรรคการเมืองหาเสียงบอกกล่าวกันยกใหญ่ ถมทับบลั๊ฟกันว่า จะพักหนี้กันยาว ๆ
จากข้อมูลความเป็นจริง การพักหนี้ คือ แค่พักหนี้เงินต้นเอาไว้ ไม่ต้องจ่าย แต่ดอกเบี้ย มันยังเดินเป็นปกติอยู่นะ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่งดคิดดอกเบี้ย ช่วงพักหนี้
ดังนั้น พักหนี้ แค่ทำให้ลูกหนี้ผ่อนคลายชั่วคราว ในยามคับขัน หาเงินไม่พอใช้หนี้ แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ จะทบไปจ่ายรวมกับหนี้หลังจากพ้นระยะพักหนี้
ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ว่า จะพักหนี้ให้ประชาชน หมายความว่า หากนโยบายเป็นจริง พรรคนั้น ๆ ได้รับเลือกตั้ง เข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วดำเนินนโยบายตามที่หาเสียง รัฐก็จะมีภาระที่ต้องใช้งบประมาณมาชดเชยให้กับสถาบันการเงิน ยกตัวอย่างเช่น หากพักหนี้ประชาชน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท พักยาว 3 ปี รัฐบาลชุดนั้น จะต้องจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินกว่า 8 แสนล้านบาท (คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย 7% ต่อปี)
2.นโยบายลบแบล็กลิสต์เครดิตบูโร
มีอยู่พรรคหนึ่ง หาเสียงไว้ว่า จะยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร รื้อระบบสินเชื่อ
ข้อเท็จจริง คือระบบข้อมูลเครดิตบูโร ไม่ได้จัดทำบัญชีแบล็กลิสต์ หรือขึ้นบัญชีดำลูกหนี้ มีเพียงการเก็บข้อมูลประวัติการชำระหนี้รายเดือนตามความเป็นจริง โดยระบุคำว่า ปกติ หรือค้างชำระ ดังนั้น ที่พูดกันว่า ติดแบล็กลิสต์ 3 ปี ไม่จริง ข้อเท็จจริง 3 ปีคือการถูกฟ้องเรียกหนี้ ถ้าชำระหนี้ไม่ได้ ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย การเป็นบุคคลล้มละลายจะมีระยะเวลา 3 ปี
ในขณะที่ข้อมูลเครดิตบูโร หากมีประวัติค้างชำระ แต่ถ้าสามารถปรับปรุง จ่ายหนี้ให้ตรงเวลาได้ 6 เดือน ก็จะทำให้ประวัติเปลี่ยนแปลง ลบล้างประวัติเดิมไปได้
เคยมีตัวอย่าง ประเทศแอฟริกาใต้ ใช้วิธีลบข้อมูลเครดิตลูกหนี้เมื่อปี 2007 พบว่า ล้มเหลว เนื่องจาก สัดส่วน 68% ของลูกหนี้ทั้งหมดที่ได้รับการลบประวัติ เกือบ 50% กลับมาเป็นหนี้เสียอีกครั้ง แต่ที่กระทบหนักกว่า คือ สถาบันการเงินจะประเมินความเสี่ยงลูกหนี้ไม่ได้ เพราะข้อมูลไม่ครบ กลัวความเสี่ยงในการให้กู้ ก็จะยิ่งปล่อยกู้ยากขึ้นไปอีก ยิ่งทำให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น
3.นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทุกพรรคหาเสียงว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี คนทำงานใช้แรงงานแลกเงิน จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การขึ้นค่าแรงจำเป็นต้องระมัดระวังผลเสียที่จะตามมา ได้แก่
-ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น
-แรงงานอาจถูกเลิกจ้าง เพราะค่าแรงสูงขึ้น เจ้าของธุรกิจแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว อาจหันไปลดต้นทุนด้วยการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน
-ต้นทุนเพิ่ม ย่อมทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น กระทบเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ วกกลับมาที่คนใช้แรงงานต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอยู่ดี
4.นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร
เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร นโยบายหลักของหลายพรรค ก็มักจะชื่นชอบหาเสียงด้วยการจำนำหรือประกันราคาสินค้าเกษตร ให้เงินอุดหนุนเกษตรกร ใช้กันมาหลายสิบปี ต่อเนื่องจากรุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูกกันแล้ว
แต่รู้มั้ย นโยบายดังกล่าวสร้างภาระทางการคลังสูงมาก ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร การอุดหนุนชาวนา ชาวประมง ใช้งบประมาณต่อปีไม่ต่ำกว่า 4.57 แสนล้านบาท
5.นโยบายเพิ่มเงินผู้สูงอายุ
คงเพราะไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ กล่าวคือ มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มมากขึ้น จนมีมากกว่าประชากรช่วงวัยอื่น จึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายพรรคหันมาให้ความสำคัญ หาเสียงกับคนสูงวัยเหล่านี้ ล่อใจด้วยนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ จากปัจจุบันครบ 60 ปีจ่ายเดือนละ 600 บาท และทุก 10 ปีเพิ่มอีก 100 บาท
ทีดีอาร์ไอมีการประเมินไว้ว่า หากมีการเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ ให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน อย่างที่มีพรรคการเมืองหาเสียงซื้อใจกันนั้น จะทำให้นโยบายนี้เป็นนโยบายที่มีต้นทุนทางการคลังที่สูงที่สุด โดยอาจจะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินถึงปีละ 5 แสนล้านบาท
คำถาม คือ รัฐบาลจะรีดภาษีจากเราเพิ่มขึ้นอีกแค่ไหน เพื่อมาทำนโยบายนี้ให้เป็นจริง!!