เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลก มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลง เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยข้อมูลวันที่ 19-25 มี.ค. 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่ 150 ราย เฉลี่ย 21 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 6 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่ม 608 และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเกิน 3 เดือน ส่วนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ซึ่งฉีดไปแล้วกว่า 6 หมื่นราย พบว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ที่สำคัญ ช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้ถึง 48% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือ LAAB และในกลุ่มเสี่ยงที่เข้ารับการรักษาใน รพ จากโรคโควิด 19 พบว่าช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ประมาณ 1 ใน 4 จึงให้แจ้งหน่วยงานในพื้นที่เร่งรัดการฉีด LAAB ให้กับกลุ่มเสี่ยงในบ้านพักคนชรา ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยฟอกไต โดยให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ทุกเขตสุขภาพ กำกับติดตามให้เสร็จก่อน พ.ค.นี้ พร้อมรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มอื่นควบคู่กันไป
“สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้เริ่มมีลักษณะใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือจะมีการระบาดในช่วงหน้าฝน พ.ค. – มิ.ย.จึงให้มีการทบทวนมาตรการทั้งการเฝ้าระวังสอบสวนโรค การเฝ้าระวังสายพันธุ์ แนวทางการรักษา รวมถึงการฉีดวัคซีนที่จะเน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1-2 เข็ม ซึ่งคณะกรรมการวัคซีนจะพิจารณาออกแนวทางคำแนะนำให้เหมาะสมต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในไทย สายพันธุ์ที่พบมากสุดยังเป็น BA.2.75 แต่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่พบในอินเดียและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีตำแหน่งกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อธรรมชาติและจากวัคซีน มีการเติบโตสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าจะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในที่สุด ขณะนี้ยังไม่พบ XBB.1.16 ในประเทศไทย ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของไทย ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง