เวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ลดลง ทั้งที่ในปี 2565 มีการปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องการเปิดการท่องเที่ยว และภาคส่วนธุรกิจมีการกลับมาเริ่มทำการค้าขายอีกครั้ง กินอยู่เป็น 360 องศาของการใช้ชีวิต จึงขอชวนผู้อ่านทุกท่านมาติดตามสถานการณ์นี้ไปพร้อมกันค่ะ
ก่อนหน้านี้คุณเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่า ในปี 2565 เวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 2.9% เป็น 3.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างดีขึ้นจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ แต่ตรงข้ามกับปี 2566 ที่เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 4.3% เป็น 4.1% และลดลงเหลือ 3.6% ซึ่งเมื่อเทียบประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดในปี 2565 และปี 2566 ถือว่าเป็นการเร่งตัวขึ้นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
โดยหลัก ๆ เป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยประเทศไทยประสบปัญหาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัว 2.1% ในปี 2566 ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 8.1% ในปี 2565 โดยการปรับลดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน, ยูโรโซน และสหรัฐ
โดยทางเวิลด์แบงก์ มีข้อเสนอเชิงนโยบายการคลัง คือ
1.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านสังคมโดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ
2.ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการให้บริการสาธารณะสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และ
3.เพิ่มรายได้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบก้าวหน้า
ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีควรคำนึงถึงการลดผลกระทบทางลบที่มีต่อครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และควรมาพร้อมกับมาตรการเฉพาะที่ช่วยปกป้องรายได้ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวด้วย
ด้านนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่เส้นทางของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากการระบาดของโควิด การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ