“STEP” โมเดลผลิตครูรุ่นใหม่ ถอดแบบหลักสูตรจากสหรัฐฯ

0
688
kinyupen

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) – คุรุสภา – ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education / ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) – บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในโครงการครุศึกษายุคใหม่ หรือ Strengthening Teachers Education Program (STEP) ตั้งเป้าเป็นโมเดลต้นแบบที่ช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพการผลิตครูรุ่นใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแล้ว จำนวน 10 แห่ง

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า บทบาทของ สอวช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ผ่านมาได้ร่วมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนในด้านการอุดมศึกษา โดยเฉพาะการปรับรูปแบบมาตรฐานของหลักสูตรให้สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน สิ่งที่ สอวช. ร่วมขับเคลื่อน เช่น แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา เครือข่ายและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง สามารถออกแบบหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากการจัดการศึกษารูปแบบเดิมได้อย่างอิสระ โดยไม่ติดข้อจำกัดการจัดการศึกษาแบบเดิม เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติข้อเสนอหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ไปแล้วรวม 4 หลักสูตร

นอกจากนี้ สอวช. ยังมีความร่วมมือในการเปิดตัวแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแห่งอนาคตรองรับการลงทุนภาคการผลิตและบริการ ที่เปิดให้นักศึกษาที่ต้องการยกระดับทักษะตนเอง สามารถเข้าไปเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รองรับนักศึกษากว่า 2 ล้านคน และมีหลักสูตรที่ผ่านการยอมรับจากบริษัทและองค์กรชั้นนำ จำนวนมากกว่า 250 หลักสูตร

“อีกบทบาทสำคัญของกระทรวง อว. คือการผลิตครู ที่ในปัจจุบันบทบาทของครูควรต้องปรับเปลี่ยนไป จากที่เป็นแค่ผู้สอน จะต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นเมนเทอร์ หรือเป็นโค้ช ให้กับนักเรียน ต้องมีความพร้อมที่จะดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อนักเรียนต้องการคำปรึกษา ครูต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาได้เสมอ โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เราจึงต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาครู ต้องดูว่าเราต้องการครูแบบไหน ซึ่งนอกจากกระทรวง อว. ที่มีบทบาทในการพัฒนาครูแล้ว อีกหน่วยงานสำคัญคือคุรุสภาของไทย ที่ต้องสร้างมาตรฐานการผลิตครูให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งการนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเข้ามาประยุกต์เข้ากับการสอนในประเทศไทย เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาศักยภาพครูในไทยได้ โดยเฉพาะแนวทางการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริงมากกว่าภาคทฤษฎี” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า โครงการ STEP ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ให้พร้อมจบไปเป็นครูมืออาชีพ โดยจะนำองค์ความรู้และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) สถาบันผลิตครูชั้นนำของสหรัฐอเมริกา มาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา “เน้นการฝึกปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี” เพื่อใช้ในการสอนได้จริง สอดรับงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะครูวิชาชีพในอนาคตต้องเพิ่มทักษะการสอนด้วยกระบวนการฝึกประสบการณ์จริงที่เข้มข้นมากกว่าทฤษฎี

คาดหวังว่าโครงการนี้จะนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางกำกับคุณภาพวิชาชีพครู อาทิ มาตรฐานหลักสูตรในการผลิตครู การออกใบประกอบวิชาชีพครู ฯลฯ  ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพให้กับวงการครูได้แบบบูรณาการ ตั้งแต่ผู้ผลิตครูต้นน้ำ ได้แก่ มหาวิทยาลัย คณาจารย์ จนถึงปลายน้ำอย่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่จบออกไปเป็นครูวิชาชีพในอนาคต” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญของโครงการ ประกอบด้วย 1.ภาควิชาการ ถ่ายทอดแนวปฏิบัติการสอน (Core Teaching Practices) พื้นฐานจำเป็นที่ครูต้องเรียน อาทิ การฝึกเทคนิคและวิธีการสอนที่ช่วยในการตั้งคำถาม พร้อมให้คณาจารย์และนิสิตนักศึกษาช่วยกันหากระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอน สร้างและแบ่งปันเนื้อหา/แพลตฟอร์ม กรณีศึกษาต่างๆ โดยเชิญ Consortium for Core Practices จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาให้คำแนะนำ 2.ภาคปฏิบัติ จัดตั้งเป็นทีม โดยเน้นกระบวนการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการที่มีคุณภาพ โดยแต่ละทีมต้องมีครูพี่เลี้ยง ที่มีประสบการณ์การสอนและผ่านการอบรมด้านการให้คำปรึกษา มาช่วยให้คำแนะนำ พร้อมเข้าเยี่ยมนิสิตนักศึกษาเพื่อให้คำปรึกษา 2 ครั้งต่อเดือน

“โครงการ STEP เป็นโครงการระยะยาว 3 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2565 – กันยายน 2568 ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ดร.พรพรรณ กล่าว

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Strengthening Teacher Education Program (STEP) นับเป็นการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและนโยบายการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้กับประเทศ ซึ่งเชฟรอนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการฯ ทั้งการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ทุนการดำเนินโครงการ การฝึกอบรม ทุนวิจัย ตลอดจนการจัดกิจกรรมการให้ความรู้เพื่อการขยายผลต่อไป ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

“โครงการ STEP นับเป็นอีกหนึ่งการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะครูในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ยังสอดรับตามเจตนารมณ์ของเชฟรอนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘พลังคน’ อันถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่เชฟรอนได้ดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานให้กับประเทศด้วยความปลอดภัย ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน” นางสาวพรสุรีย์ กล่าวทิ้งท้าย

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here