ปี 2565 นี้ช่างคาดเดายาก ผันผวนทุกอย่าง ไม่ว่าจะสินทรัพย์ไหน โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างหนัก ส่งผลกับธุรกิจที่ต้องนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ เงินรายได้ที่ได้รับ หรือค่าสินค้าบริการที่ต้องจ่ายให้ต่างชาติไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ผู้ประกอบการควรจะรับมืออย่างไร กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีข้อแนะนำจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มาฝาก เพื่อรับผลประโยชน์ หรือลดความเสี่ยงผลกระทบให้ได้มากที่สุด
ค่าเงินบาทอ่อนยวบ ส่งผลอะไรกับธุรกิจ?
ล่าสุด ณ วันที่ 1 ส.ค. 2565 เงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ราว 36.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าราว 9% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 และเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี
เงินบาทอ่อนคืออะไร
ภาวะที่เงินบาทไทยมีมูลค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศ เพราะเงินบาทไทยสามารถแลกเป็นเงินต่างประเทศที่เป็นสกุลหลัก เช่น เงินดอลลาร์ ได้น้อยลง แต่ดอลลาร์สามารถแลกเป็นเงินบาทไทยได้มากขึ้น กล่าวคือ ถ้าเราขายของส่งนอก เราได้เงินไทยกลับมามากกว่าเดิม แต่ถ้าเราซื้อของนอก เราต้องจ่ายเงินไทยมากขึ้น
การที่เงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้
อานิสงส์
• ผู้ส่งออกโดยรวมจะได้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านราคา (Price Effect) และรายรับในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้น (Income Effect)
• ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูงจะได้ประโยชน์มากกว่า อาทิ สินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา ผลไม้ ไก่แปรรูป) เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ผลกระทบ
• ผู้นำเข้าโดยรวมจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้นำเข้าที่ขายแต่ในประเทศ
• ผู้ส่งออกที่มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในธุรกิจที่มี Margin ต่ำ
ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน
ค่าเงินเป็นตัวบ่งบอกเสถียรภาพของประเทศนั้นๆ โดยสาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็ว
ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่รุนแรง โดยล่าสุด Fed Funds Rate อยู่ที่ 2.25-2.50% และหลายฝ่ายคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ราว 3.5% ในช่วงสิ้นปี 2565
นอกจากนี้ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ทำให้นักลงทุนหันไปถือเงินดอลลาร์และซื้อพันธบัตรมากขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง
แนวทางรับมือในช่วงเงินบาทอ่อนค่า สำหรับผู้ประกอบการ
1. อย่าชะล่าใจกับเงินบาทที่อ่อนค่า
ช่วงนี้ผู้ส่งออกอาจยิ้มได้จากรายได้ที่ทอนกลับมาเป็นเงินบาทที่เพิ่มขึ้น แต่ใครจะรู้ว่า Happy Hour นี้จะยาวนานแค่ไหน ดังนั้น อย่าประมาท
2. อย่าเก็งกำไรค่าเงินเด็ดขาด
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปถึงไหน หรือจะกลับมาแข็งค่าเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าเราคาดการณ์ผิดทาง แน่นอนว่าเราจะเสียมากกว่าได้
3. อย่าลืมป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างครบวงจร
ทั้งการซื้อ Forward Contract หรือ Option ตลอดจนอาจบริหารความเสี่ยงด้วยตนเองผ่านการ Matching รายได้กับรายจ่ายที่อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD (Foreign Currency Deposit) รวมถึงการมองหาทางเลือกในการค้าขายเป็นเงินสกุลอื่น ๆ ที่ผันผวนน้อยกว่า เป็นต้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า อยากย้ำเตือนผู้ประกอบการให้ป้องกันความเสี่ยงให้รอบด้านดีกว่า อย่าเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
ผู้ประกอบการจะได้นำทรัพยากรที่มีไปใช้ในการพัฒนาสินค้าให้มี Value-added ปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งหาช่องทางตลาดใหม่ๆ โดยไม่ต้องมาเสียเวลากังวลหรือลุ้นว่าเงินบาทจะไปในทิศทางไหน
บริการของ EXIM BANK เพื่อช่วยผู้ประกอบการปิดความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ บริการสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) และประกันค่าเงิน (FX Option)
ช่วยให้ลูกค้าของ EXIM BANK ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับเงินค่าสินค้าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
High Risk High Return ก็จริง แต่ “ไม่เสี่ยงแล้วกำไรชัวร์” ดีกว่านะ