เคล็ดลับแพลนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า แก้เก็บเงินไม่อยู่

0
1347
kinyupen
ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็แล้ว ซื้อแค่ของที่จำเป็นก็แล้ว แต่ยังไม่วายเก็บเงินไม่อยู่ เพราะมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มมาอีกก็ไม่รู้ ลืมเสียสนิทเลยว่าต้องจ่าย ทำให้หลุดงบที่ตั้งไว้ เป็นต้นเหตุให้เงินไม่พอ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีความรู้ทางการเงินที่โรงเรียนไม่ได้สอนมาฝากเช่นเคย แก้ปัญหาเงินหมด ช่วยเพิ่มเงินออม ด้วยวิธีบริหารเงินด้วยการตั้งงบล่วงหน้า ทั้งแบบรายเดือน และรายปี ให้การจับจ่ายใช้สอยเงินราบรื่น ไม่มีหลุด

งบรายเดือนล่วงหน้า

ในเมื่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มาซ้ำๆ ทุกเดือน เช่น ค่ากิน ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเทอม ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือแม้แต่ค่าเที่ยว ค่าช้อปปิ้ง พวกนี้สามารถเดาตัวเลขได้คร่าวๆ แล้วทำไมเราไม่ลิสต์งบไว้ล่วงหน้าเสียเลยล่ะ!?

วิธีนี้ผู้เขียนคิดเองค่ะ จดโน้ตในไลน์ เพราะวางแผนที่ไหนก็ได้ ดูได้ทุกที่ มีอิสระในการเขียน

ขั้นแรก ต้องสร้างกลุ่มที่มีเราคนเดียวก่อน จึงจะจดโน้ตได้ แยกหมวดหมู่ไว้ ลิสต์รายการออกมา อันไหนจ่ายแล้วเรียบร้อย พิมพ์เครื่องหมาย / ลงไป

Tips : แยกเงินใส่บัญชีต่างๆ ให้เรียบร้อย โดยใช้สัญลักษณ์สีธนาคารช่วยจำค่ะ สีเขียวก็กสิกร สีฟ้ากรุงไทย สีชมพูออมสิน เป็นต้น

ทำไมต้องแยกบัญชีธนาคาร?

สาเหตุที่ต้องแยกธนาคารเพราะไม่อยากให้งบปะปนกันเอง ตามหลัก สูตรจัดการเงินผ่าน 4 บัญชี ในที่นี้ผู้เขียนแยกเป็น…
  • บัญชีค่าใช้จ่ายคงที่ : ค่าเช่า ค่าโทรศัพท์รายเดือน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ค่าสมาชิก ค่าทำฟัน ผ่อนหนี้
  • ค่าใช้จ่ายผันแปร : ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าวัตถุดิบทำอาหาร ค่ารับประทานอาหารนอกบ้าน ค่าเที่ยว ค่าของใช้
  • เงินเผื่อฉุกเฉิน : เงินเผื่อเหลือเผื่อขาดของเดือนนั้นๆ
  • เงินลงทุน เงินออม : หุ้น กองทุน สหกรณ์ออมทรัพย์

งบการเงิน (รายปี) ล่วงหน้า จดในไลน์ ช่วยเรื่องการเงินไม่สะดุด
การบริหารเงินรายเดือนแบบนี้สามารถปรับใช้ได้ตามไลฟ์สไตล์ จะปรับเป็นงบรายวัน รายไตรมาสก็ได้ และใครไม่สะดวกใช้ไลน์ ถนัดใช้กระดาษกับปากกา หรือชอบใช้แอปพลิเคชันอื่นวางแผนการเงินมากกว่า ก็เลือกสรรวิธีที่เหมาะสมได้เลยค่ะ

งบรายปีล่วงหน้า วางแผนอนาคตการเงินไม่สะดุด

ค่าใช้จ่ายบางอย่างเราลืมเสียสนิท เพราะรายจ่ายนั้นไม่ได้มาทุกเดือน แต่มาแบบค่าใช้จ่ายก้อนโต ตูมเดียวเสียแพง เช่น วันครบรอบ ค่าของขวัญ ค่าเทอม ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ค่าประกันภัย ประกันชีวิต ดังนั้นห้ามลืมเด็ดขาด เงินจะไม่พอใช้ สุดท้ายก็ต้องหยิบยืมคนอื่นให้เป็นหนี้ อันตรายค่ะ

งบนี้ควรทำล่วงหน้าทุกปี หรือทุกครึ่งปีค่ะ โดยสร้างตารางแบ่งเป็น 12 เดือน แบ่งคอลัมน์เป็น 4 ช่อง คือ เดือน – รายละเอียด – ค่าใช้จ่าย – หมายเหตุ

งบการเงิน (รายปี) ล่วงหน้า ช่วยเตือนค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่
ใครใคร่กระดาษจดกระดาษ ใครอยากได้แบบละเอียดยิบก็ใช้ Excel ซึ่งผู้เขียนเป็นแบบกลางๆ ใช้แอปพลิเคชัน Google ชีต ในมือถือก็ทำตารางได้ สะดวกดีค่ะ
หลักการวางแผนการเงินที่ดี คือต้องมองโลกในแง่ร้าย ต้องคิดเผื่อล่วงหน้าไว้หลายสเต็ปเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี ใช้จ่ายได้ราบรื่น เป็นจุดเริ่มต้นของการมีเงินเก็บ เงินออม และความมั่งคั่งในอนาคต
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตหวังว่าวิธีนี้จะทำให้ทุกคนมีชีวิตมั่นคงขึ้น การเงินไม่มีสะดุด ไว้พบทริกการเงินดีๆ อีกในบทความหน้านะคะ
kinyupen