กำแพงบ้านร้าว สีผนังหลุดล่อน รั้วประตูบ้านขึ้นสนิม หรือคราบสกปรกตามรอยต่อระหว่างแผ่นกระเบื้อง เห็นจนชินแต่ก็ไม่ทำอะไร คิดว่าเรื่องเล็ก กว่าจะรู้ตัวก็อาจทำให้บ้านชำรุดทรุดโทรมจนยากแก้ไขได้
การค้นหาช่างฝีมือดีและไว้ใจได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รู้ไหม? ปัญหาดังกล่าวอย่างเราๆ ก็ซ่อมเองได้ ไม่ต้องถึงมือผู้เชี่ยวชาญ เพียงมีวัสดุอุปกรณ์ และคำแนะนำนิดหน่อย กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีคำแนะนำและขั้นตอนให้คุณซ่อมบ้านด้วยตัวเองโดยไม่ง้อช่าง
ปัญหาหลักๆ ที่มักเกิดขึ้นกับบ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน เช่น ผนังมีรอยร้าว กำแพงบ้านแตกลึกถึงด้านใน สีผนังล่อน รั้วและประตูบ้านขึ้นสนิม ตลอดจนคราบสกปรกตามรอยต่อระหว่างแผ่นกระเบื้อง ปัญหาเหล่านี้ช่างสมัครเล่นสามารถซ่อมแซมเองได้ แต่ต้องศึกษารายละเอียดความหนักเบาของปัญหาและขั้นตอนเบื้องต้นให้เข้าใจเสียก่อน ซึ่งมีดังนี้
ผนังแตก-กำแพงร้าว
รอยแตกร้าวบนกำแพงจะเป็นปัญหาที่หลายบ้านต้องพบเจอ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน แต่จำเป็นต้องเรียกช่างแตกต่างกันตามลักษณะและระดับความรุนแรง
หากแตกลายงาเล็กน้อยก็สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการใช้อะคริลิกอุดรอยร้าว เช่น Acrylic Sealant หรือ Acrylic Filler ซึ่งเป็นวัสดุอุดรอยต่อที่ทำจากวัสดุพอลิเมอร์กลุ่มไฮโดรคาร์บอน (คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน) เหมาะสำหรับรอยแตกร้าวขนาดเล็กไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ใช้ได้ทั้งแบบที่เป็นหลอดทรงกระบอกปลายแหลมหรือสีโป้วผนังประเภทอะคริลิกแบบกระปุกก็ได้
- ใช้เกรียงขูดแต่งรอยรอบๆ ให้เรียบก่อน แล้วทำความสะอาด ไม่ให้มีความชื้นหรือฝุ่นสกปรกเกาะ
- จากนั้นใช้อะคริลิกปาดหรืออุดเข้าไป โดยเริ่มจากจุดที่มีผนังร้าวใหญ่ที่สุด ค่อยๆ ไล่ไปยังจุดเล็ก
- สุดท้ายใช้เกรียงปาดส่วนเกินออก ทิ้งผนังไว้ให้แห้งตามระยะเวลาที่แต่ละผลิตภัณฑ์กำหนด
- เมื่อผนังแห้งดีแล้วก็ใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบเสมอกับผนังส่วนอื่นๆ
- ทาด้วยสีรองพื้นปูนเก่าและทาสีใหม่ทับ
สำหรับรอยแตกร้าวแนวดิ่งหรือรอยแตกร้าวแนวเฉียงลงมา อาจต้องปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญ เพราะรอยแตกร้าวในแนวดิ่งอาจเกิดจากคานด้านบนของกำแพงรับน้ำหนักมากเกินไป กรณีนี้ผู้อยู่อาศัยควรย้ายของหนักจากชั้นบนออกเพื่อไม่ให้รอยร้าวเพิ่มขึ้น ส่วนรอยแตกแนวเฉียงลงมาอาจเกิดจากเสาบ้านทรุดตัว เนื่องจากการต่อเติมที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ทำให้เสาบ้านเดิมไม่สามารถรับน้ำหนักได้
อย่างไรก็ตามหากเป็นรอยร้าวลึกที่กำแพงด้านนอก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อตัวบ้านและต้องการซ่อมแซมด้วยตัวเอง ในเบื้องต้นก็สามารถใช้ Acrylic Patch ที่มีคุณสมบัติในการรับน้ำหนักได้ดีกว่าปูนทั่วไปซ่อมแซมได้
- เริ่มต้นทำความสะอาดพื้นผิว ด้วยการใช้เกรียงขูดสีเก่าออกให้หมดแล้วใช้ฟองน้ำชุบน้ำทำความสะอาดพื้นผิวให้กำแพงชุ่มน้ำเพื่อให้อะคริลิกแพตซ์เกาะพื้นผิวได้ดีขึ้น
- ผสมอัตราส่วนอะคริลิกแพตซ์ 3 ส่วนต่อน้ำ 1 ส่วน คนให้เข้ากันแล้วอุดเข้าไปในร่องอย่างรวดเร็ว จากนั้นฉาบผิวหน้าให้เรียบรอให้แห้งประมาณ 1 ชั่วโมงจึงทาทับ
สีผนังลอกกับรั้วขึ้นสนิม
การเสื่อมสภาพตามกาลเวลาจนทำให้สีผนังหรือกำแพงบ้านหลุดล่อนหรือแตกลายงา การซ่อมแซมหรือทาสีใหม่ควรเลือกวันที่สภาพอากาศดีๆ ไม่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไม่มีแดดออกจ้า และไม่ควรมีลมแรงเพราะลมอาจหอบเศษฝุ่นละอองมาติดบนพื้นผิวที่พึ่งทาสี
- ใช้เกรียงขูดลอกแผ่นสีเดิมออกและขัดด้วยกระดาษทรายเพื่อปรับให้พื้นผิวเรียบ
- ทาน้ำยารองพื้น 2-3 รอบ ทิ้งไว้ให้แห้ง 3-4 ชั่วโมง
- หาทับด้วยสีใหม่ 2 รอบ เพื่อให้ติดทนนาน
สำหรับการทาสีรั้วบ้านที่ขึ้นสนิม
- เริ่มจากใช้กระดาษทรายขัดเหล็กหรือแปรงขดลวดขัดผิวเหล็กบริเวณที่เกิดสนิมออกในมากที่สุด
- ทำความสะอาดผิวเหล็กอีกครั้ง เพื่อกำจัดฝุ่น คราบไขมัน และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก่อน
- ใช้น้ำยาหยุดสนิมหรือน้ำยาแปลงสภาพสนิม (Rust Converter) หาลงบนผิวเหล็กให้ทั่ว ทิ้งไว้ 10-15 นาที น้ำยาจะค่อยๆ เปลี่ยนสนิมให้เป็นสีดำ ซึ่งช่วยยับยั้งการเกิดสนิมใหม่ได้
- ทาสีรั้วใหม่ทับลงไปอีกชั้น (ควรทาสี 2 รอบเพื่อให้สีติดทนนาน)
คราบสกปรกในรอยต่อกระเบื้อง
ห้องน้ำ เป็นห้องที่มีปัญหาเยอะที่สุดเรื่องคราบเหลืองหรือจุดด่างดำตามรอยต่อกระเบื้อง รวมทั้งยาแนวกระเบื้องที่มักหลุดจนน้ำเข้าไปขังตามร่องและเกิดเป็นรอยดำ นอกจากไม่สวยงามแล้วยังไม่ถูกสุขลักษณะและส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ด้วยเพราะน้ำที่ขังอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียที่เติบโตได้ดีในห้องน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นหากปล่อยให้ยาแนวกระเบื้องหลุดล่อนนานวันเข้าก็อาจทำให้กระเบื้องแผ่นอื่นๆ พลอยเสียหายไปด้วย
ปัญหานี้ช่างสมัครเล่นซ่อมได้
- ใช้เกรียงกรีดยาแนวเดิมออกแล้วขูดคราบสกปรกต่างๆ ออกให้หมด จากนั้นใช้ฟองน้ำดูดซับตามแนวร่องจนแห้งสนิท
- ใช้เกรียงกรีดยาแนวกระเบื้องใหม่ลงในแต่ละร่องให้เต็ม จะใช้ยาแนวแบบกาวซิลิโคนกันเชื้อราหรือแบบสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไปก็ได้
- รอให้ยาแนวแห้งสนิทประมาณ 1 วัน จากนั้นจึงใช้ฟองน้ำเช็ดรอยเลอะตามแผ่นกระเบื้องให้สะอาด
อย่างไรก็ตามแม้เราจะสามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างในบ้านได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของตัวบ้าน ระบบสายไฟ ระบบท่อ หรือการซ่อมแซมหลังคาที่เสี่ยงอันตราย ควรปรึกษาช่างที่มีความเชี่ยวชาญจะดีที่สุด
และควรสำรวจตรวจตราสิ่งผิดปกติภายในบ้าน พร้อมทั้งใส่ใจดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพราะ “บ้านคือวิมานของเรา”
อ้างอิง
คณะผู้จัดทำนิตยสาร happiness. (2021) . DO IT Yourself คู่มือซ่อมบ้านฉบับ DIY งานง่ายๆ ไม่ต้องง้อช่าง.happiness, 11 (44) , 62-63.