สำหรับโรคไวรัส RSV มี ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจเกิดได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก มักเกิดขึ้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว และจะเกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก
ไวรัส RSV เผยแพร่ผ่านการไอ จาม รวมถึงสัมผัสสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน โดยจะใช้เวลา ฟักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ หากร่างกายแข็งแรงก็จะสามารถหายเองได้ แต่หากเกิดกับเด็กเล็ก ซึ่งภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ ก็จะทำให้เกิดอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนอื่น
โดยสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
มีอาการ ไข้ ไอ เสมหะ น้ำมูก บางรายอาการหนักมีหอบเหนื่อย
- Swelling หลอดลมบวม ตีบแคบ ทำให้หายใจหอบเหนื่อย ลมเข้าปอดได้ แต่ออกลำบาก เด็กจึงต้องหายใจเร็วและแรง ใช้กล้ามเนื้อกะบังลมช่วยหายใจ
- Spasm หลอดลมไวและตีบได้ ไวต่อสิ่งกระตุ้น
- Secretion สารคัดหลั่งในหลอดลมมาก และอุดหลอดลม หายใจลำบาก ต้องดูดเสมหะช่วย บางรายรุนแรง เขียว หายใจล้มเหลว ต้องให้ออกซิเจน หรือใส่ท่อช่วยหายใจใน ICU
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษได้แก่
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ยิ่งอายุน้อยยิ่งรุนแรง
- คลอดก่อนกำหนด
- มีโรคประจำตัวเช่น ปอด หัวใจ
ซึ่งหากป่วยแล้วแพทย์จะทำการ รักษาตามอาการ ไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ ทั้งกินและฉีด ไม่มีวัคซีน การรักษาคือ พ่นยา ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำ ยาลดไข้ ซึ่งไวรัสตัวนี้หายดีแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำ ร่วมกับถ้ามีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว พ่อหรือแม่ อนาคตเด็กอาจจะเป็นโรคหอบหืดตามมาได้
ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นยังมีไม่มาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว
สำหรับวิธีการป้องกัน มีนำแนะนำจากแพทย์ว่าสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการเดียวกับการป้องกันโรคโควิด 19 คือ การล้างมือบ่อยๆ ใช้หน้ากากอนามัย เมื่อออกไปในที่สาธารณะ โดยสำหรับเด็กๆ ผู้ปกครองสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในบุตรหลานได้โดยการพยายามให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านมนั้น สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน และหมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ