ล่าสุดจากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เริ่มมีปริมาณเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและ ต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ ตั้งแต่เป็นโรคไม่ร้ายแรงเช่นผื่นคัน หายไปไม่ออก ภูมิแพ้ ไปถึงโรคร้ายแรงในระบบหายใจจนอาจจะเสียชีวิตได้ ดังนั้นการดูแลป้องกันไม่ให้ฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายเป็นหนทางดีที่สุด
ทำไมฝุ่นละออง PM 2.5 ถึงอันตราย
ในปี ค.ศ. 1997 ทาง United States Environmental Protection Agency (USEPA) ได้กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ไว้ในมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Ambient Air Quality Standards: NAAQS) เพื่อปกป้องความปลอดภัยของสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดนี้สามารถเข้าสู่อวัยวะในระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง สามารถทะลุเข้าไปถึงถุงลมปอดได้ทันที ทำให้เกิดการระคายเคืองและมีผลต่ออาการและโรคทางเดินหายใจ สามารถทำลายอวัยวะของระบบทางเดินหายใจโดยตรง และยังทำให้เกิดการระคายเคืองตา ระคายคอ แน่นหน้าอก หายใจถี่ หลอดลมอักเสบ เกิดอาการหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และอาจเกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้
หากจะเทียบขนาดของฝุ่นขนาดจิ๋วนี้ คือ มลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์นั่นคือเล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ และมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) ดังนั้นฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้
นอกจากนี้มันยัง เป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก
สำหรับ แหล่งกำเนิดสำคัญ คือ การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ขยะสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ
สำหรับอันตรายของมันนั้น สามารถทำให้เกิดโรคได้ดังนี้
- แสบตา ตาแดง
- ผิวหนังอักเสบ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น
- ภูมิแพ้กำเริบ หอบหืด
- มีไข้ ตัวร้อน
- แสบจมูก มีน้ำมูก ไอจาม
- อาจเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น มะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ เป็นต้น
ดังนั้นในช่วงที่ฝุ่นเริ่มมีมากขึ้นในขณะนี้ สามารถสังเกตอาการสัญญาณเตือนจากการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น
- ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มผื่น นูนแดงกระจายบนผิวหนัง
- ดวงตา ตาแดง เปลือกตาบวม มีน้ำตาไหล ใต้ตาช้ำมีสีคล้ำขึ้น
- ทางเดินหายใจ คัน แน่นในโพรงจมูก แน่นหน้าอก ไอ จาม มีน้ำมูกแบบใสๆ
ซึ่งหากมีอาการเริ่มต้นเหล่านี้ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าคุณกำลังเจอกับพิษสงของฝุ่นขนาดจิ๋วนี้เข้าให้แล้วควรหาวิธีป้องกันรักษาอย่างเร่งด่วน
สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ
ควรสวมหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งหนากว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และงดกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณที่มี ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน ก่อนฝุ่นละอองจะเข้าไปสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรคร้าย และหากมีอาการ
- ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
- ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน หากปิดหน้าต่างไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดมาปิดแทนหน้าต่าง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- งดสูบบุหรี่ในช่วงที่พบฝุ่นละอองในอากาศมาก
- ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
- ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ทำให้อากาศแย่ไปกว่าเดิม