เคยรู้สึกเครียด อ่อนเพลีย ไม่มีอารมณ์ทำงาน หรือขาดแรงจูงใจในงานที่ทำไหม? แน่นอนว่าทั้งหมดนี้อาจเผลอให้คุณคิดไปถึงโรคซึมเศร้า แต่แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดได้ว่า คุณกำลังอยู่ในจุดสตาร์ทของ Burnout Syndrome!
ความเครียดในการทำงาน ภาระงานที่หนักอึ้งและปริมาณงานที่มากจนเกินจะรับไหว จนกระทบกับสมดุลในการใช้ชีวิต บวกกับสภาพแวดล้อมโดยรวมในชีวิตประจำวันที่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดัน มักเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้เกิดสภาวะ Burnout Syndrome หรือที่คนรู้จักกันในชื่อ ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ซึ่งอาจรุนแรงเกินกว่าที่เราคาดเดาหลายเท่านัก วันนี้เราเลยรวบรวมข้อมูลภาวะ Burnout Syndrome มาให้เช็กลิสต์กัน พร้อมวิธีรับมือให้ไปลองปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีของตัวเอง ก่อนจะสายเกินแก้หรือต่อยอดไปสู่โรคซึมเศร้าอย่างสมบูรณ์แบบ!
ภาวะ Burnout Syndrome คืออะไร?
Burnout Syndrome คำพูดยอดฮิตที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด จนมีความรู้สึกว่าบางครั้งเหนื่อยหน่ายกับการทำงาน เหนื่อยล้าทางอารมณ์ ไม่มีกะจิตกะใจในการจะทำอะไรก็ตามเพราะรู้สึกสูญเสียพลังงาน มองทุกอย่างเป็นลบ ขาดความสุขในการทำงาน หมดแรงจูงใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง บางรายอาจถึงขั้นไม่อยากเข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หมดเรี่ยวแรงในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหากปล่อยเอาไว้นานและอยู่สภาพแวดล้อมเดิม ๆ อาจส่งผลต่อการทำงานจนถึงขั้นอยากลาออก และมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
สาเหตุของ Burnout Syndrome มาจากอะไร ?
1.ปัญหาการจัดการ
เนื่องจากงานมีความซับซ้อน จนทำให้เกิดปัญหาในการเรียงลำดับการทำงาน ขาดความกล้าตัดสินใจ เช่น ไม่สามารถกำหนดตารางงานของตนเองได้ หรือรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วงไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานในที่สุด
2.ภาระงานที่หนัก
ด้วยภาระงานที่หนัก ปริมาณงานที่มากเกินไป และความคาดหวังจากทั้งตนเอง เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน หรือสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดันและความเครียดอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัด เกิดความเครียด จนนำไปสู่สภาวะหมดไฟ ไม่มีกะจิตกะใจในการทำงานอีกต่อไป
3.ขาดแรงสนับสนุน
ว่าด้วยเรื่องการทำงาน ต้องบอกว่าเราทุกคนล้วนอยากได้การยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน แต่หากคุณต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว ถูกละเลยจนรู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน อาจส่งผลให้เกิดความเครียด ขาดเป้าหมายในการทำงาน จนทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการทำงานและหมดไฟในการทำงานเร็วขึ้น
4.ขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
นอกจากปริมาณงานที่ล้นและหนักหน่วง ควบคู่ไปกับหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง จนบางครั้งไปเบียดเบียนเวลาส่วนตัว อาจทำให้ร่างกายของคุณไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เกิดเป็นความเครียดสะสม เก็บตัว ขาดเป้าหมายในชีวิต จนนำไปสู่ภาวะ Burnout Syndrome ได้
กลุ่มไหนที่มีความเสี่ยง Burnout Syndrome?
เชื่อว่าทุกคนคงคิดถึงกลุ่มวัยทำงาน หนุ่มสาวออฟฟิศที่ง่วนอยู่กับงานกองโตตลอดทั้งวัน หัวหน้าหรือผู้บริหารที่แบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบมากเกินไป ล้วนมีโอกาสเสี่ยงกับโรคเบื่องานมากที่สุด แต่ความเป็นจริงนั้น ภาวะหมดไฟในการทำงานสามารถเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย รวมไปถึงคนที่จริงจังมากเกินไป ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) มีความคาดหวังสูง ไร้ความยืดหยุ่น คนเหล่านี้จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงกับภาวะ Burnout Syndrome มากที่สุด
เมื่อรู้ตัวว่า Burnout ทำยังไงดี?
1.ดูแลสุขภาพ
เพราะเมื่อทำงานหนักเกินไปหรือมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนน้อยหรือนอนดึก ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้เข้าสู่สภาวะหมดไฟในการทำงานเร็วขึ้น ดังนั้น การหมั่นดูแลสุขภาพโดยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับโรคเบื่องานได้ดียิ่งขึ้น
2.หางานอดิเรกทำ
อย่างเช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปท่องเที่ยวให้ห่างจากงานในช่วงสั้น ๆ นอกจากสร้างความผ่อนคลายให้กับตัวเอง ลดความเครียดแล้ว ยังช่วยให้คุณไม่ต้องวิตกกังวลกับงานและมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ การทำสมาธิให้จิตใจสงบก็เป็นอีกสิ่งที่ควรทำ เพื่อสร้างความผ่อนคลายและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ซึ่งควรหมั่นฝึกฝนและทำเป็นประจำ หากเกิดภาวะเสี่ยงจิตที่มีสมาธิและสงบจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างถูกวิธี
3.ปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองเกี่ยวกับการทำงาน องค์กรและเพื่อนร่วมงาน
เข้าใจได้ว่าความเครียดที่เกิดจากการทำงานนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร หากแต่ความเครียดของคุณที่มีอยู่เดิมและนับวันยิ่งสะสมเป็นระยะเวลานาน ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องรีบกำจัดความเครียดเหล่านี้ให้หมดไป โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับงานและเพื่อนร่วมงาน อาจเริ่มจากการขอความช่วยเหลือในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ กระจายงานที่หนักหนาจนล้นตารางให้ทีมงาน เพื่อลดความเครียดในการทำงานของคุณ
4.เปิดใจให้กับคนรอบข้าง
การปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการพัฒนาทักษะในการสื่อสาร การแก้ปัญหา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับคุณ และยังช่วยให้คุณไม่ต้องแบกรับภาระหน้าที่เพียงคนเดียว นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ด้านลบ แต่ควรใช้เวลากับคนที่เห็นคุณค่าในงานของคุณให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างกำลังใจในการทำงานให้ตัวคุณเอง
5.จัดระเบียบชีวิต
การจัดระเบียบชีวิตและลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันนั้น จะช่วยให้คุณไม่หลุดโฟกัสกับงานหรือสิ่งที่ต้องทำในวันนั้น ๆ และควรกำหนดเวลาในการทำงานให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและกดดันตัวเองมากเกินไป อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการนำงานกลับไปทำที่บ้านหรือนอกเวลางานเด็ดขาด
สุดท้ายแล้วใช่ว่าทุกคนจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตได้ แม้คำแนะนำข้างต้นจะช่วยให้ภาวะ Burnout Syndrome มีอาการที่ดีขึ้น แต่หากลองนำไปปรับใช้แล้วยังมีอาการอยู่ หรือมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา และรับการรักษาให้ถูกต้องและทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้นานเจ้าภาวะหมดไฟในการทำงาน อาจส่งผลให้เกิดโรคข้างเคียงและนำไปสู่สภาวะเครียดสะสม โรคนอนไม่หลับ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ และสุดท้ายคือโรคซึมเศร้า ซึ่งเรามั่นใจว่าไม่มีใครอยากเจอแน่นอน
เพราะสุดท้ายแล้วความสุขที่แท้จริงในชีวิตคือการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่ารู้สึกผิดที่จะหยุดพัก มาจัดการความเครียด ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตัวเองให้กลับมาสมดุลกันเถอะ