เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในครอบครัวส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลอยู่ร่วมกันกับลูกหลาน บางครั้งท่านก็เปิดทีวีเสียงดัง พูดเสียงดัง ไปจนถึงตะโกน ต้องพูดซ้ำหลายๆ รอบจึงจับใจความได้ หรือมีบ้างที่ผู้สูงอายุเมิน เงียบ ไม่ตอบบทสนทนา ทำเอาเข้าใจผิดว่าท่านไม่พอใจซะงั้น
แท้จริงไม่ใช่แบบนั้นเลย เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ทุกอย่างเริ่มหย่อนยาน มีอย่างเดียวที่นับวันยิ่งตึง คือหู!
ที่เขาพูดเสียงดังกัน โดยเฉพาะในที่สาธารณะ เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงพูดของตนเอง สำหรับคนที่นึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงตอนที่เราพูดตอนใส่หูฟังครอบหู เราจะได้ยินเสียงตัวเองและรอบข้างเบาลง
คุยกันแต่พ่อไม่ได้ยิน เลยต้องพูดดัง พ่อน้อยใจ ทำไมเราต้องตะคอกใส่ด้วย..
ผู้ใหญ่บางคนหูเริ่มไม่ค่อยดีแต่ไม่มีใครยอมรับหรอกว่าตัวเองหูตึง อย่าเถียงกันให้เสียเวลา ผู้สนทนามีวิธีพูด เพื่อให้ได้ยินได้ชัดขึ้นโดยไม่ต้องเสียงดังใส่กัน ดังนี้
การสื่อสารกับผู้สูงวัยที่สูญเสียการได้ยิน
- พูดด้านหน้าของผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน
- ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรืออื่นๆ ที่ทำให้ผู้ฟังมองไม่เห็นรูปปาก
- พูดเป็นประโยคสั้น กระชับ
- พูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องตะโกน
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้ยินเสียงสูงได้ยากกว่าเสียงต่ำถึง 1.5 เท่า ก็คือจะได้ยินเสียงผู้หญิงเบากว่าเสียงผู้ชาย ถ้าเห็นว่าท่านตอบบทสนทนาหลานชาย แต่ไม่ตอบหลานสาว ก็ไม่ต้องเสียใจไปว่าเขาแกล้งไม่ได้ยิน การพูดด้วยโทนเสียงที่ต่ำลงก็ช่วยได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการพูดเสียงดังไม่ควรปล่อยไว้ เพราะหูของลูกๆ หลานๆ จะเสียไปด้วย ควรพบแพทย์และขอคำแนะนำ อาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังแต่ก็นับว่าคุ้มค่า ถือว่าช่วยรักษาสภาพหูกับคนอื่นๆ ในบ้านและรักษาสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ไม่เพียงผู้สูงวัยเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน วัยอื่นก็มีสิทธิ์เป็นได้เหมือนกัน แต่สาเหตุอาจไม่ใช่ความเสื่อมของหู เช่น ขี้หูอุดตัน, เยื่อแก้วหูทะลุ, หูชั้นนอกอักเสบ, เนื้องอก ควรลองสำรวจตัวเอง เพื่อไปพบแพทย์
วิธีสังเกตอาการ “หูตึง” ด้วยตัวเอง
ทดสอบในที่ที่ เสียงรบกวนน้อยที่สุด ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งถูกันจนเกิดเสียงเบาๆ ในระยะใกล้ๆ หู ราวๆ 1 นิ้ว ระดับเสียงนี้จะอยู่ที่ราวๆ 30 เดซิเบล หากได้ยินแปลว่าหูยังปกติอยู่ แต่หากไม่ได้ยินแสดงว่าเริ่มมีอาการหูตึง
เราป้องกันการหูตึงได้ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย โดยเฉพาะแมกนีเซียม ซึ่งพบมากในถั่ว กล้วย เมล็ดต่างๆ บร็อคโคลี่ รวมถึงป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น ความดัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินได้
เรื่องหูนี่เองที่เป็นต้นตอของทุกสิ่ง หวังว่าเราจะเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น อย่าให้ความเสื่อมตามวัยกลายเป็นเรื่องบาดหมางกันในบ้าน แต่สำหรับคนที่เสียงดังโดยความเคยชิน ควรรู้จักควบคุมตัวเองให้มีสติ เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ปัญหามลพิษทางเสียงจะหมดไปหากเราเข้าใจ และให้อภัยกันและกัน