6 อาการวิกฤตที่ใช้สิทธิ 72 ชั่วโมงได้

0
718
kinyupen

ปัจจุบันข้อถกเถียงถึงการใช้สิทธิหลักประกันคุ้มครองกรณีวิกฤตยังมีอยู่มากมาย อาทิ อาการเจ็บป่วยแบบใดที่สามารถใช้ได้ หรือ ใช้ได้ที่ไหนบ้าง และหากเกิดวิกฤตขึ้นจริง เราต้องทำอย่างไร วันนี้ข้อสงสัยเหล่านี้จะคลี่คลายไป เพราะกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาคลี่ให้ได้ทราบกัน

 

“สิทธิคุ้มครองกรณีฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP” คือ อีกหนึ่งสิทธิพื้นฐานที่เราควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์และคุ้มครองกรณีพ่อแม่ หรือ คนในบ้านเจ็บป่วยโดยเฉพาะภาวะวิกฤต เพราะในนาทีที่เราโทรเรียกรถฉุกเฉินคำถามที่ต้องเจอเป็นอันดับแรก คือ ไปที่โรงพยาบาลไหน ซึ่งหากคนป่วยไม่วิกฤตถึงขั้นหมดสติ สิ่งที่ต้องเตรียมคิดไว้คือ ผู้ป่วยรักษาประจำที่ไหน พร้อมเตรียมบัตรผู้ป่วย บัตรประชาชน (จำเป็นมาก) เผื่อไว้

 

แต่ถ้าวิกฤตหนัก เราสามารถใช้ “สิทธิคุ้มครองกรณีฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP” เพื่อรับการรักษาและกู้ชีพเบื้องต้นกับโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อนได้ โดย UCEP นี้จะคุ้มครองครอบคลุมค่ารักษาและกู้ชีพภายใน 72 ชั่วโมง

 

 

ทั้งนี้ กลุ่มอาการวิกฤตฉุกเฉินที่สามารถใช้สิทธินี้ได้แบ่งเป็น 6 อาการ

 

  1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียก หรือ กระตุ้น จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที
  2. การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน
  3. ระบบหายใจมีอาการดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรงและลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ ร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอาหาร หรือ ขนมอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ
  4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤต อย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรืออาการวูบเมื่อลุกยืน
  5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ
  6. อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น

 

แต่สิ่งพึงรู้และระวังคือ “การใช้สิทธิคุ้มครอง UCEP นั้นอาการจะต้องเข้าขั้น ESI RED ZONE และความดันตก” เช่น หากมีอาการปวดท้องเพราะไส้ติ่งแตก หรือ เนื้องอกในมดลูกแตก ปวดระดับ 10 มีอาการเหงื่อออกตัวเย็น และมีเลือดออกในอวัยวะภายในจนต้องเข้าผ่าตัด ตาม พรบ.การแพทย์ฉุกเฉินประเมินว่าเป็น ESI โซนเหลือง ซึ่งไม่เข้าข่ายสิทธิของ UCEP

 

กรณีที่เข้าข่ายข้อพึงรู้ คือ สิทธิ์นี้จะครอบคลุมภายใน 72 ชั่วโมงจนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤต ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับความคุ้มครอง 72 ชั่วโมง คือ ถ้าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและอยู่ในห้อง ICU หรือ CCU (กรณีโรคหัวใจ) แพทย์ผู้เป็นเจ้าของไข้อาจพิจารณาว่าพ้นภาวะวิกฤตหลังจาก 30 ชั่วโมงแรก นั่นหมายถึงญาติต้องประสานไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสังกัดหรือได้รับความคุ้มครอง เช่น บัตรทอง หรือ ประกันสังคม อยู่โรงพยาบาลไหนต้องทำการประสานและย้ายไปให้ทันกับการพิจารณาของเจ้าของไข้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่เกินกำลัง

 

สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นคือโทรประสานที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. หมายเลข 02-8721669 เพราะทางศูนย์ฯ จะแจ้งไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน

 

ส่วนกรณีที่ไม่เข้าข่ายดังข้างต้นแต่อาการฉุกเฉินและเข้าโรงพยาบาลใกล้เคียงไปแล้วนั้น ก็อาจใช้สิทธินอกประกันสังคมได้แต่ญาติต้องประสานกับโรงพยาบาลต้นสังกัดเพื่อขอใช้สิทธิ์และให้โรงพยาบาลส่งรถรีเฟอร์มารับผู้ป่วยหรือดำเนินการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วน

kinyupen