YOLD ศัพท์ใหม่ที่กำลังมาแรงช่วงนี้มีที่มาจากคำว่า Yong Old ที่ญี่ปุ่นบัญญัติขึ้นสำหรับคนที่อยู่ในวัยเกษียณช่วงอายุ 65-75 ปี แต่จะนับเข้ากลุ่ม YOLD ก็ต่อเมื่อคนในช่วงวัยดังกล่าวยังเปี่ยมคุณภาพ เตะปี๊ปดัง กระฉับกระเฉงมีสุขภาพดี และมีเงินพอประมาณ
จอห์น พาร์เกอร์ คอลัมนิสต์ของดิ อีโคโนมิสต์ได้เขียนถึงกลุ่ม YOLD ว่า ปี พ.ศ. 2563 จะเป็นจุดเริ่มต้นของคนกลุ่มนี้อย่างแท้จริงเพราะประเทศพัฒนาแล้วต่างขยายเวลาเกษียณของผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2498-2503 ด้วยคนกลุ่มนี้จะทยอยเกษียณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2568 โดยสาเหตุของการขยายเวลาเกษียณเนื่องจาก ซึ่งจากสถิติขององค์การอนามัยโลกชี้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นประชากรที่มีสัดส่วนสูงประมาณ 134 ล้านคนหรือคิดเป็น 11% ของจำนวนประชากรโลก อันมีคุณสมบัติอึด ทน ทั้งสั่งสมประสบการณ์ที่เชื่อว่าจะสามารถพาโลกพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ
กลุ่ม YOLD ไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายขององค์กรขนาดใหญ่ในการต่ออายุเกษียณ หากยังเป็นเป้าหมายด้านการตลาดของแทบทุกกลุ่มสินค้ารวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว และการศึกษาเนื่องด้วยรายได้ เงินสะสม งานอดิเรก และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่บอกถึงอำนาจการใช้เงิน อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา คนกลุ่มนี้มีรายได้หลังหักภาษีประมาณ 70% ของรายได้รวมหลังหักภาษีของคนทั้งประเทศ มีความชื่นชอบในการซื้อของออนไลน์ ค้นหาข้อมูลสุขภาพ ซึ่งแนวโน้มนี้ก็ปรากฏในสังคมไทยเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ยืนยันถึงอิทธิพลของ YOLD คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดแผนกพิเศษรองรับคนกลุ่มนี้ที่อยากเรียนรู้ ซึ่งมีให้เลือกกว่า 60 คอร์ส ตามความสนใจทั้งศิลปะ ดนตรี ปรัชญา วรรณกรรม จนถึงเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้คือกลุ่ม Baby Boomer เพราะเกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเป็นช่วงที่มีอัตราการเกิดเยอะเพราะต้องการสร้างแรงงานในการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ จึงเป็นที่มาของคำว่า Baby Boomer และด้วยการกล่าวที่ว่าพฤติกรรมของคนจะสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย สถานการณ์การเมือง สังคมเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้จึงมีพฤติกรรมการทำงานแบบทุ่มเท อดทน ประหยัดอดออม ความคิดออกแนวอนุรักษนิยม
จึงเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักจะอยู่ในรุ่นนี้ค่อนข้างมาก และเมื่อ 3 ปีก่อนได้มีการแบ่งกลุ่มทางการตลาดให้คำบัญญัติกลุ่มนี้ว่า Middle Adulthood ผู้ใหญ่วัยกลางคน สู่ปรากฏการณ์ Midorexia ป้ายฉลากสำหรับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่แสดงถึงความอ่อนกว่าวัย ทำงานได้นานขึ้น มีความสุขและสร้างความพึงพอใจให้ตนเองเสมอจนคำว่า Anti Aging ถูกเมินไปเลย
ดังนั้นคนวัยนี้ไม่ต้องกลัวหรือเซ็งกับคำว่าแก่ เพราะตราบใดที่ยังไฟแรงเว่อร์ ตราบนั้นยังมีที่ยืน