จาก Podcast He knows She knows ep 2 เรื่อง Bully อันมีแก่นจากความซึมเศร้าของคนที่โดนกระทำ หรือเรียกง่ายๆ ว่าโดนแกล้งทั้งในโลกความจริงและโลก Online กับคนที่เอาชนะการถูกกลั่นแกล้งหรือถูกย้ำปมด้อยสู่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงนำเนื้อหาส่วนหนึ่งที่บอกวิธีรับมือหากรู้สึกไร้คุณค่า กับ ตัวอย่างของผู้ที่สร้างพลังแห่งความสำเร็จจากคำพูดและคำเสียดสี “ลบ” ที่ทอนใจออกมาคลี่เพื่อสร้างพลังและแนวทางหลุดพ้นให้กับผู้ที่ตกเป็นจำเลย หรือมีคนใกล้ชิดที่อยู่ในสภาวะนี้
การกลั่นแกล้ง (Bullying) หมายถึง พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งพฤติกรรมนั้นเป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวด เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจ หรือมีพลังเหนือกว่าผู้อื่น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลายาวนานโดยมี 4 ประเภทด้วยกัน
- ทำร้ายร่างกาย เช่นชกต่อย ผลัก หรือตบตี
- กดดันทางสังคม ใช้กลุ่มเพื่อนหรือสังคมกดดันให้แยกออกจากกลุ่ม
- ด้วยคำพูด ทั้งเหน็บแนม เสียดสี วิจารณ์
- สังคมออนไลน์ โดยใช้เครือข่ายสังคมโจมตี
ส่วนสาเหตุของการกลั่นแกล้ง บางครั้งก็อาจเกิดจากกลอนพาไป คือหยอกล้อจนไม่ระวัง หรือผสมโรงสร้างพวก รวมถึงหมั่นเขี้ยวเอาสักหน่อยสิ่งเหล่านี้นับวันจะรุนแรงขึ้นในสังคมไทยเพราะผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่โดนทัวร์ลงโดนซ้ำๆ ต่อเนื่องโดนขุดเรื่องส่วนตัวชนิด 360 องศา 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน นี่จึงเป็นที่มาของโรคซึมเศร้าที่เกิดในหมู่นักเรียน หรือ คนดัง
ดังนั้นหลักการขั้นต้นไม่ว่าจะของสิตางศุ์ บัวทอง เจ้าแม่ส้มหยุด ที่ว่า เวลาที่ถูกกลั่นแกล้งสิ่งที่จะทำให้เอาชนะและยืนหยัดอยู่ได้คือ ลดอัตตา ลดยึดติดตัวกูของกู เพราะจะส่งผลให้ไม่รู้สึกกระทบกับคำพูดหรือคำเสียดสีใน Online เนื่องจากไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่ใช่ตัวเรา หรืออย่างที่สุพัฒน์ รักษ์ แห่ง He knows She knows Podcast พูดในความหมายละม้ายกันคืออย่าเอาใจไปใส่คำเหล่านั้นจนทำให้มันมากัดกินแต่แน่นอนว่า ผงเข้าตาใครก็ย่อมยากจะเขี่ย
แนววิธีที่จะลดความเจ็บปวด ที่กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตรวบรวมมาทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ
1. ไม่ตอบโต้กับคำ Bully ไม่ให้คำเหล่านั้นเข้ามามีอิทธิพล
2. ไม่โต้ตอบ เพราะจะไม่สิ้นสุดและกลายเป็นลูกโซ่ปัญหา
3. หยุดลงโทษ หรือกล่าวโทษตัวเองและอย่าปรุงแต่งความคิดไปไกลเนื่องจากหลายครั้งทุกอย่างที่แย่และเลวร้ายเกิดจากความคิดตนเอง
4. บอกใครสักคนไม่ว่าจะในครอบครัวหรือเพื่อน หรือครู เพราะบางทีอาจได้ความคิดหรือทางออกใหม่ ๆ
5. เก็บหลักฐาน โดยเฉพาะ กรณีไซเบอร์ เนื่องจากสามารถดำเนินคดีและให้ภาพเหล่านั้นออกจากระบบได้โดยเฉพาะคนที่พลาดมีคลิปลับ
6. หาเพื่อนหรือกลุ่มใหม่โดยทุกคนในโลกนี้ให้เชื่อว่ามีคนที่ชอบเราและพร้อมจะเข้าใจพร้อมเป็นเพื่อน
7. ให้เวลาทอดออกไปด้วยการหางานอดิเรก หาสิ่งที่ชอบอย่างเล่นดนตรี ออกกำลัง เล่นกีฬาเพื่อย้ายความหมกมุ่น วิตกออกไป
8. แก้ไขข้อบกพร่องและหาจุดเด่นของตนเองขึ้นมา เพื่อสร้างตัวตนและการยอมรับ
9. ระวังตัวที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ เช่น ไม่ถ่ายคลิป หรือส่งไลน์ที่ส่อเสี่ยงกับการถูกแบล็คเมล์ หรือถูกแกล้งในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่อาจเลือกปรับ เลือกทำที่เข้ากับเราแล้วค่อยๆ จัดการไป
อย่างไรก็ตาม Bully ก็อาจสร้างพลังบวกมีคนดัง คนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ ในประเทศนี้ในหลายวงการ ที่สร้างตัวตนขึ้นมา สร้างพลังบวกขึ้นมาจากคำดูถูก หรือการโดนกลั่นแกล้ง ฉะนั้นวันนี้ใครที่โดนแกล้ง คงต้องเลือกว่าจะยืนความคิดที่จุดไหนระหว่าง ไร้ค่า หรือมีคุณค่าเพราะทุกอย่างเรากำหนด
นักร้อง Rihanna
ที่ถูกBully สีผิว และหน้าอก วันนี้เธอกล่าวว่า รู้สึกขอบคุณกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะทำให้เธอแกร่งขึ้น
นักกีฬา ไมเคิล เฟลส์
มักถูกล้อเรื่องหูใหญ่และ naive (ซื่อบื้อ) ทั้งเป็นคนสมาธิสั้น จึงเอาพลังมาสร้างและฝึกว่ายน้ำ
นักธุรกิจ แจ๊กหม่า
ถูกเพื่อนล้อเพราะสอบตกซ้ำชั้นอนุบาล7 ปีและเป็นเด็กตัวเล็ก อีกทั้งสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ
นักร้อง เทย์เลอร์ สวิฟต์
ถูกไซเบอร์ บุลลี่และทัวร์ลง เรียกเธอว่า “นางงูพิษ” แต่เธอกลับมองว่าสิ่งนี้คือพลังผลักดันที่ทำให้แข็งแกร่งและเป็นที่มาของเพลง Look what you made me do