สำหรับผู้ชื่นชอบกลิ่นอายของวัฒนธรรม ชุมชนท้องถิ่นและบรรยากาศเก่า สุพรรณบุรี คืออีกเมืองเก่าที่กิน-อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตอยากแนะนำด้วยเส้นทางที่ห่างจากกรุงเทพฯในรัศมี 100 กิโลเมตรเศษๆเท่านั้น
สุพรรณบุรี กล่าวได้ว่าเป็นเมืองโบราณมีความเป็นมาและมีวัฒนธรรมต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี โดยมีเรื่องเล่าว่าที่มาของชื่อแต่เดิม คือ 2000 บุรี ด้วยครั้งบูรณะวัดป่าเลไลย์สมัยพระเจ้ากาแต (กษัตริย์ในยุคนั้นคาดว่าพื้นเพมาจากเมียนมาร์) ได้ชักชวนข้าราชการบวช 2,000 คน ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นสุพรรณบุรี ต่อมาสมัยพระเจ้าอู่ทองครั้งกรุงศรีอยุธยาสุพรรณบุรีได้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นคือเป็นเมืองอุ่ข้าว อู่น้ำที่มีความสมบูรณ์ และเมืองหน้าด่านที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ด้วยเป็นพื้นที่ยุทธหัตถีและพื้นที่เดินทัพสมัยพระนเรศวรมหาราช
จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ สุพรรณบุรี จะมีชุมชนและตลาดเก่าอายุกว่า 100 ปีที่ขึ้นชื่อถึง 3 แห่ง คือตลาดเก่าศรีประจันต์ ที่แม้จะคึกคักน้อยแต่สำคัญที่เดิมเป็นตลาดค้าส่งที่แม่ค้าต้องมาเทียบเรือขึ้นท่า ทั้งเป็นสถานที่เกิดของปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนาเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ตลาดเก้าห้อง ที่มีจุดเด่น คือ ตลาดที่มีหอดูโจรเนื่องจากในอดีตโจรชุกชุมอันเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจร
และตลาดขึ้นชื่ออีกแห่งที่กิน อยู่ เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต นำภาพบรรยากาศหลังคลายล็อกดาวน์มาฝากคือ ตลาดสามชุก
ตลาดสามชุกตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรีในอดีตตลาดแห่งนี้เป็นท่าเรือสำคัญ จึงกลายเป็นชุมชนที่มีการค้าขายสะท้อนวิถีของผู้คนในยุคก่อน สังเกตได้จากภายในตลาด มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุก (เหล่าปึงเถ่ากง) ที่ผู้สัญจรทางเรือและชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรให้เดินทางปลอดภัย เจริญรุ่งเรือง ซื้อง่ายขายคล่อง และ อยู่เย็นเป็นสุข
สิ่งที่น่าสนใจของตลาดนี้ นอกจากบรรยากาศของบ้านเรือนในยุคก่อน บรรยากาศสภากาแฟ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์ จีนารักษ์ ที่รวบรวมอดีตและประวัติของชุมชนแห่งนี้ ยังมีร้านขายอุปกรณ์ถ้วยชามแบบสมัยเดิม เช่น ถาด จาน ชามสังกะสีเคลือบ ถ้วยแก้ว และยังมีขนมท้องถิ่นอย่างขนมสาลี่ ขนมตาล ขนมท้องม้วนโบราณ รวมถึงพวกปลาแห้ง ปลาต้มเค็ม ตลอดจนเป็ดพะโล้ หมูแดง ที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยจีนของชุมชนสามชุกเป็นอย่างดี และทีมกิน-อยู่-เป็นได้ลิ้มรสแล้วต้องยกนิ้วให้
ตลาดสามชุก จึงเป็นชุมชนอีกแห่งที่น่าไปเยือนและดูว่าต่างไปจากคำกลอนของสุนทรภู่ที่กล่าวถึงในนิราศสุพรรณไว้หรือไม่
“ถึงนามสามชุกท่า ป่าดง
เกรี่ยงไร่ได้ฟ้ายลง แลกล้ำ
เรือค้าท่านั้นคง ดอยเกรี่ยง เรียงเอย
รายจอดทอดท่าน้ำ นับฝ้ายขายของฯ”