“ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์” เตรียมเปิดการท่องเที่ยวแบบจับคู่ประเทศ ในชื่อ “Tran-Tasman Travel Bubble” แก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวซบเซา เน้นการเดินทางระยะยาวของนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีการจับจ่ายสูง ทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะอยู่นาน เดินทางน้อย เล็งเปิดเพิ่มสิทธิพิเศษสำหรับนักธุรกิจเพื่อเจรจาการค้า ขณะหลายประเทศเริ่มนำแนวคิดไปทำตามรวมทั้งไทย
หลังการระบาดของโรคโควิด 19 ผ่านจุดวิกฤติของหลายๆ ประเทศไปแล้ว ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบที่เคร่งครัด โดยเฉพาะการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นรายได้หลักของหลายๆ ประเทศที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน
สำหรับการท่องเที่ยวหลังโรคระบาดได้เกิดรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวกำลังพูดถึงมากในขณะนี้คือ การท่องเที่ยวแบบ “Travel Bubble” หรือการจับคู่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศโดยจะเป็นการเจรจารูปแบบแลกเปลี่ยนการรับนักท่องเที่ยวระหว่างกันระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มั่นใจว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่ยังคงอยู่ในกฎระเบียบที่นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน โดยปัจจุบันเริ่มมีการทำงานจับคู่เจรจากันแล้วในบางประเทศ เช่น เช่น จีน กับ สิงคโปร์บางเมือง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์บางเมือง
ทราเวลบับเบิล “Travel Bubble” ถือเป็นรูปแบบใหม่ ที่เพิ่งถูกนำมาในช่วงหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 โดยแนวคิดการท่องเที่ยวแบบนี้ประเทศที่จับคู่ท่องเที่ยวกันเป็นอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานการป้องกันโรคอย่างชัดเจน คู่แรก และถือเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ คือ คู่ “นิวซีแลนด์” และ “ออสเตรเลีย” ซึ่งทั้งคู่ใช้ชื่อว่าใช้ชื่อว่า “Tran-Tasman Travel Bubble” เปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเริ่มต้นเป็นการจำกัดเมืองที่จะท่องเที่ยว โดยคู่ประเทศทั้งสองตกลงยินยอมให้มีการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องให้มีการกักตัว แต่ยังคงมีมาตรการตรวจเข้มข้นที่สนามบินของแต่ละประเทศ โดยอาจจะเริ่มอนุญาตให้มีการเดินทางไปมาในบางเมืองก่อน
ทั้งนี้จะมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศในการให้สิทธิพิเศษของการเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น เช่น การตรวจเช็คสุขภาพทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทางว่าผู้ที่เดินทางมานั้นปลอดจากโรคโควิด-19 จริง
แม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้อย่างชัดเจนนักว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ แต่ทั้งสองประเทศก็ได้ร่วมมือการศึกษาและทำแผนการร่วมกันมานานแล้ว โดยเน้นการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย มีการเตรียมการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อกังวลต่างๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ส่วนใหญ่สนับสนุนแผนนี้ และคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะมีการดำเนินการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกันได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออย่างช้าคือ กันยายนปีนี้ เนื่องจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นับว่าเป็นมีรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก และต่างก็เป็นตลาดใหญ่ของการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในโดยปี 2562 ชาวออสเตรเลีย 1.5 ล้านคนใช้วันหยุดในนิวซีแลนด์ซึ่งคิดเป็น 40% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทาง ในขณะที่ออสเตรเลียเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมานานสำหรับชาวนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นตลาดแหล่งใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสำหรับผู้มาเยือน (ตามหลังจีน) โดยมีชาวนิวซีแลนด์ 1.4 ล้านคนเดินทางไปท่องเที่ยวในออสเตรเลียในปี 2562 เช่นกัน
จากข้อตกลงในรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่นี้ ทั้งสองประเทศยังมีความเห็นตรงกันว่า ไม่เพียงที่จะทำให้การท่องเที่ยวไม่หยุดชะงักลงเท่านั้น แต่กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ยังจะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพและมีถือเป็นการเริ่มต้นรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย เพราะในการเดินทางแต่ละครั้งนักท่องเที่ยวจะต้องเตรียมตัวอย่างดี ทั้งเรื่องของเอกสารการเดินทางต่างๆ ที่จะต้องมีการรับรองความปลอดภัยตามข้อกำหนด,แผนการเดินทางที่ส่วนใหญ่ผู้ที่ต้องการจะเดินทางจริงๆ ส่วนใหญ่ต้องการใช้ระยะเวลาท่องเที่ยวเป็นเวลานาน มีการจับจ่ายใช้สอยในลักษณะของนักท่องเที่ยวคุณภาพ และยังช่วยเรื่องการลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อมเพราะจะไม่มีการเดินทางไปมาในระยะสั้นๆ มากนัก เมื่ออยู่เที่ยวชมก็จะท่องเที่ยวยาวนานไปเลย ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังคิดต่อยอดรูปแบบการเดินทางใหม่แบบใหม่นี้ไปยังเรื่องของธุรกิจด้วย โดยมองไปถึงเรื่องทางการค้า โดยจะใช้รูปแบบนี้มาใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ โดยเรียกแนวคิดเช่นนี้ว่า “Trade Bubble” โดยจะเริ่มให้มีการดำเนินการในกลุ่มประเทศที่มีการซื้อขายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ที่กว้างออกไป เช่น แคนาดา สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยจะอนุญาตให้กลุ่มนักธุรกิจเดินทางเพื่อเจรจาธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดตอนของซัพพลาย เชน