วิธีเก็บเงินให้โสดแบบสวยๆ แต่รวยตอนแก่

0
1118
kinyupen

สังคมปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ครองตัวเป็นโสดเพิ่มมากขึ้น บ้างให้เหตุผลว่าชื่นชอบการใช้ชีวิตอิสระตัวคนเดียว บ้างก็ให้เหตุผลว่ายังหาเนื้อคู่ไม่เจอ ที่เคยเจอก็ยังไม่ถูกใจ บ้างก็อาจเข็ดกับการมีคู่เพราะเคยพบความผิดหวังมาก่อน ฉะนั้นถ้าคนไหนเตรียมใจล่วงหน้าไว้แล้วว่า ชีวิตนี้ (อาจจะ) ไม่มีคู่แน่นอน สิ่งที่ต้องคิดอันดับแรก คือ วิธีวางแผนการเงิน ว่าต้องทำยังไงถึงจะมีกินมีใช้ เลี้ยงดูตัวเองยามแก่แบบสบายๆ ไม่ต้องลำบากพึ่งพาหรือ หยิบยืมใคร

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำ 4 วิธีเก็บเงินสำหรับคนโสด มาฝากกัน…

 

เก็บเงินคนโสด_เก็บเงินไว้ใช้ตอนแก่

 

1.อย่าคิดติดหนี้ ถ้ามีให้รีบเคลียร์

ลองลิสต์ภาระหนี้สินของตัวเองออกมา แล้วจัดลำดับความสำคัญ เช่น หนี้ที่ดอกเบี้ยสูงให้รีบจัดการปลดหนี้ก่อน ทยอยจัดการหนี้สินจะเลือกแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือถ้ามีเงินก้อนจะเคลียร์ที่เดียวให้จบๆ ไปก็ได้ และไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม ไม่เช่นนั้นชีวิตคุณจะ Move On เป็นวงกลมแน่นอน

อ่าน 4 ไอเดียปลดหนี้ และ 6 พฤติกรรมการใช้เงินแบบยอดแย่

 

2.วางแผนก่อนเกษียณ

คุณอาจคิดว่าอยู่คนเดียวน่าจะชิลล์เพราะใช้จ่ายเงินน้อยกว่าคนมีครอบครัว แต่ความคิดนั้นอาจผิดมหันต์ เพราะแค่วางแผนอยู่บ้านพักคนชรายังต้องมีเงินก้อนใหญ่ไว้จ่ายเขาเป็นหลักแสน หลักล้าน ซึ่งฟังดูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

แล้วต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ?

ลองตั้งคำถามกับตัวเองเล่นๆ ว่า หลังเกษียณอยากมีเงินใช้เดือนละเท่าไหร่โดยที่ไม่ต้องทำงานเพิ่ม แล้วลองคำนวณดู เช่น นาย ก. อายุ 35 ปี ตั้งเป้าว่าจะครองโสดตลอดชีวิตและเมื่อถึงช่วงอายุ 60-80 ปี อยากมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท หรือ ตกปีละ 240,000 บาท ถ้าคิดเป็นยอดรวมตลอด 20 ปีก็จะเป็นเงิน 4,800,000 บาท

 

ถ้าเริ่มต้น ณ ปัจจุบัน นาย ก. ยังเหลือเวลาหาเงินอีก 25 ปี ดังนั้นแต่ละปีต้องมีเงินเหลือเก็บจากการใช้จ่ายทั่วไปให้ได้ประมาณปีละ 192.000 บาท (ไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ) นาย ก. ถึงจะเก็บได้ 4,800,000 บาทตามเป้า แต่ถ้านาย ก. มองว่ายากเกินไปก็ให้ปรับวิธีคิดใหม่ อาทิ เกษียณตัวเองให้ช้าลงมีเวลาหาเงินเก็บเงินมากขึ้น หรือ ลดจำนวนเงินที่จะใช้หลังเกษียณลง

 

อย่างไรก็ตามเงินหลังเกษียณของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีเท่ากัน การคิดคำนวณต้องขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือ ความต้องการของแต่ละคนเป็นหลัก

 

3.คิดเสียว่า เงินก็เหมือนเค้ก ดังนั้นควรตัดแบ่งเป็น 4 ส่วน

สิ้นเดือนเงินเข้าบัญชี อย่าพึ่งดีใจออกไปปาร์ตี้ รีบจัดสรรแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนเพื่อให้เห็นตัวเลขชัดเจน วางแผนง่ายและเป็นการสร้างวินัยการออม แต่ก็สามารถใช้ชีวิตแบบมีความสุขไปได้อย่างสมดุลพร้อมกัน

  • ตัด 10% เป็นเงินออม เมื่อเงินเดือนเข้าให้ตัดใจหักเงินส่วนนี้เข้าบัญชีทันที เพราะถ้าใช้ก่อน รอให้เหลือแล้วค่อยเก็บ คุณคงใช้เงินเพลินจนหมดก่อนออมแน่นอน ดังนั้นแนะนำให้เปิดบัญชีฝากประจำแยกจากบัญชีเงินที่ใช้จ่ายเพื่อให้เป็นสัดส่วน ไม่ปนกัน
  • จำกัดงบรายจ่ายไม่เกิน 40% ของรายรับ เดือนๆ หนึ่ง เรรู้อยู่แล้วว่ามีค่าใช้จ่ายเงิน Fix cost อาทิ ค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าว ค่ากาแฟ ค่าขนมจุกจิก ค่าเดินทาง ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ประมาณกี่บาท ซึ่งควรนำมาคำนวณเพื่อวางแผนใช้ให้พอดีเฉพาะที่จำเป็น
  • หัก 30% ลงทุนเงินอนาคต อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นถึง 3% การฝากเงินไว้เฉยๆ ที่ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 1% ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับการเก็บเงินระยะยาว ควรลงทุนให้เงินงอกเงยขึ้น เช่น ซื้อกองทุน สลากออมทรัพย์, หุ้นหรือการสะสมทองคำ เลือกที่ชอบ ลงทุนแต่พอดี ตามความเสี่ยงที่รับได้ ควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนการลงทุน
  • ตั้งงบพิเศษ 20% เพื่อซื้อความสุข โสดทั้งทีต้องมีความสุข เมื่อแบ่งสรรเงินส่วนที่จำเป็นเรียบร้อยตามแผนแล้วก็ถึงเวลาหาความสุขเติมเอ็นโดรฟินให้กับตัวเองบ้าง เช่น การเดินทางท่องเที่ยว ซื้อของที่อยากได้ หรือ ทานอาหารมื้อพิเศษที่อยากทาน แต่ก็ไม่ถึงกับว่าต้องไปมีเหมือนคนอื่นซะทุกอย่าง เพราะความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน เติมความสุขแล้วก็อย่าลืมกลับมาทำงานเก็บเงินต่อนะ

 

4.ทำประกัน

ร่างกาย คือ ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตเรา เพราะทุกสิ่งที่งอกเงยขึ้นมาล้วนเกิดจากตัวเราทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้า อยู่มาวันหนึ่งเงินที่คุณเก็บมาทั้งชีวิตต้องหมดกับเรื่องที่ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือ อุบัติเหตุ เช่น เคยเกิดกรณีไฟไหม้โรงงานจนทำให้เจ้าของสิ้นเนื้อประดาตัวภายในเวลาเพียง 30 นาที แบบนี้คงไม่โอเคเท่าไร ชีวิตหลังเกษียณที่วางไว้อาจสลายลงในพริบตา ดังนั้นในข้อนี้จึงไม่ได้หมายถึงแค่ประกันชีวิต แต่รวมไปถึงประกันทรัพย์สินประเภทต่างๆ ที่คุณมีอยู่ด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

วันนี้โลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว เงินไม่ใช่ความสุขทุกอย่างของชีวิต แต่เกือบทุกอย่างที่ทำให้ชีวิตมีความสุขก็มาจากเงิน ดังนั้นการวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนัก ซึ่งแนวทางที่นำเสนอมานี้ก็สามารถปรับใช้ได้กับคนทุกสถานะไม่เพียงแค่คนโสด แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมี “วินัย” เพราะถ้าคุณวางแผนการเงินได้ดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้ไม่ยาก และบั้นปลายชีวิตก็จะมีความสุขได้ตามแบบที่ใจคุณต้องการ

kinyupen