ทุกคนต่างมีวันที่แย่เสมือนทั้งวันมีแต่เรื่องห่วยแตก ราวกับว่าวันนั้นตื่นมาลืมตาผิดข้างหรือก้าวเท้าผิดออกจากประตู ถ้าหากวันอย่างนั้นเกิดขึ้นจะทำยังไงเพื่อไม่ให้อารมณ์ระเบิดหรือหดหู่เกินเยียวยา กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตขอนำ 7 ทางออกที่นิวยอร์กไทม์รวบรวมแนวทางจากนักจิตวิทยาหลายต่อหลายท่าน
เริ่มแรกนักจิตวิทยาบอก เมื่อไหร่ที่ปัญหาเล็กๆ ทำให้รู้สึกอกจะระเบิด นั่นกำลังเป็นสัญญาณบอกว่า ผิดปกติ ระบบประสาทของเรากำลังรวนและทำงานหนัก เพราะปกติแล้วเรามักจะไม่ถือสาเป็นอารมณ์กับเรื่องเล็กน้อย นอกเสียจากว่าเรื่องเหล่านั้นมันเกิดขึ้นแบบสะสม หรือเกิดพร้อมๆ กัน โดยช่วงประสาทแดกนี้นักจิตวิทยาเรียกว่าช่วง “Experiential Blindness”เพราะปกติคนเราจะตัดสินใจจะทำอะไร จะมีสมองเป็นผู้สั่ง หากในรูปการณ์นี้กลับไม่ใช่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ 7 ทางออกรับมือกับความเครียด ในวันหดหู่. เศร้า เหงา เซ็ง
1. หายใจลึก ให้เต็มปอด
หายใจลึกๆ เต็มปอดเหมือนทำสมาธิ 2 นาที
หยุดอารมณ์ขุ่นมัว โดยหายใจลึกยาวเข้าเต็มปอด อาจดูเป็นเรื่องเก่า รู้อยู่แล้วหากได้รับการยืนยันว่าช่วยได้ นักจิตวิทยาบอกเวลาที่รู้สึกแย่ รู้สึกเลวร้ายให้หายใจเข้าออกลึกๆยาวๆ ให้เต็มปอด 2 นาที เสมือนทำสมาธิจากนั้นค่อยลำดับความคิดว่า เกิดอะไรขึ้น เรากำลังรู้สึกอะไร โดยวิธีนี้ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องหาที่สงบทำตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าทำแล้วยังไม่ดีขึ้น ยังจมหนักนักจิตวิทยาแนะนำว่า อาจถึงเวลาที่ต้องคุยกับผู้เชี่ยวชาญ
2. ขออภัยไว้ก่อน
ถ้าระเบิดอารมณ์ กับ “คน” ไม่ว่าใกล้ ไกล ขอโทษ ก่อนเลย
ในคำแนะนำบอกว่า หลังจาก ขอโทษแล้ว ควรพยายามอธิบายเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้นหากเป็นคนสนิทหรือใกล้ชิด ไม่ว่าจะครอบครัว หรือเพื่อน ควรนั่งคุยกันว่าเรามีบทเรียนครั้งนี้อย่างไร จะแก้ปัญหาเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไร บอกถึงความต้องการของเราให้อีกฝ่ายรับรู้ ทั้งนี้ประการสำคัญของการพูดคุย อย่าตัดสินว่าใครถูก ใครผิด หากต้องรับฟังแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือการสร้างบรรยากาศพูดคุยที่หัวเราะไปด้วยกันก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น
3. ออกกำลัง
เปลี่ยนกลไกจิตใจเป็นบวก ด้วยการออกกำลัง 30 นาที
การสวมชุดออกกำลังกาย และออกไปใช้พลังในวันที่รู้สึกแย่ จากผลการวิจัยพบว่าช่วยได้จริง เพราะหลังจากออกกำลังกายไม่กี่ชั่วโมงภาวะอารมณ์เปลี่ยนเป็นบวก ลดความรู้สึกเป็น ลบ
4. เอาชนะความท้าทาย
หาเกมฝึกสมอง เปลี่ยนโหมดความคิด
บางทีเราอาจเพียงแค่ต้องการหาเรื่องเบี่ยงความสนใจ ออกจากความหมกมุ่นของอารมณ์โดยเปลี่ยนโหมด ซึ่งกิจกรรมที่นักจิตวิทยาแนะนำคือ ประเภทเกมฝึกสมองประลองปัญญา อย่างพวกเกมปริศนาทายคำ เกมวางแผน เกมจำลองซิมูเลเตอร์ต่าง ๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นและเปลี่ยนโหมดอารมณ์ได้เป็นอย่างดี
5. หาเพื่อน ติดต่อผู้คน
ชีวิตรู้สึกดี ถ้าได้พูดคุยติดต่อ
เพราะคนเราต้องแวดล้อมด้วยผู้คน อยู่รวมเป็นสังคม เราจึงต่างต้องการมีเพื่อนพูดคุย พบปะ องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้ชีวิตรู้สึกดี ทางออกของข้อนี้คือหากรู้สึกแย่ พยายามติดต่อพูดคุยผู้คนเข้าไว้ สะดวกแบบไหนก็ใช้ช่องทางแบบนั้นทั้ง vdo call หรือ chat หรือ โทร หรือหาใครไม่ได้แค่นั่งที่ล๊อบบี้คอนโด แล้วโบกมือทักทายคนก็อาจทำให้ดีขึ้น ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว หรือเซ็งลง
6. เลี่ยงต่อยมวย หรือ กรี๊ดดด
ระบายแบบลบ จิตตกกว่าเดิม
การะบายความโกรธแบบแสดงพลังลบ นักจิตวิทยาไม่แนะนำเพราะอาจจะทำให้ทุกอย่างแย่กว่าเดิมไม่ว่าจะโกรธแล้วกรี๊ดออกมา (นึกภาพละครดังหลังข่าว) หรือ ชกกระสอบทรายก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น
7. ขอบคุณ สิ่งดีดี
เหรียญมี 2 ด้านให้หมั่นรู้สึกดี ขอบคุณด้านบวก
ในชีวิต เรา หรือในโลกนี้มีทั้งเรื่องดีและเรื่องแย่หากคำแนะนำคือนึกถึงเรื่องหรือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หรืออะไรที่ทำให้เรา รู้สึกดี มันจะช่วยกระตุ้นให้เรามีความรู้สึกที่ดี เพราะการนึกถึงสิ่งดีๆ ขอบคุณผู้คนที่ดีต่อเรา จะช่วยสร้างพลังและแรงใจที่ดี สิ่งดีๆ ในชีวิตไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ อาจเป็นรสชาติของกาแฟยามเช้า ในบรรยากาศที่มีเสียงนกร้อง หรือโทร ไลน์ขอบคุณคนรอบตัวที่ทำให้เรารู้สึกดี สิ่งเหล่านี้คือพลังบวกที่จะเติมเข้ามา