คนที่มักแก้ตัวด้วยข้ออ้างต่างๆ นานาจะสูญเสียความน่าเชื่อถือจากคนรอบข้างไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อใดก็ตามที่คำแก้ตัวเพื่อปัดและเลี่ยงความผิดให้พ้นตัวของคุณนั้นเป็นการอ้างซ้ำๆ เติมๆ จนเสมือนคำโกหกที่ฟังไม่ขึ้น ซึ่งบางครั้งแม้มันอาจเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อคุณสูญเสียความเชื่อถือไปแล้วคุณก็จะเสมือนเด็กเลี้ยงแกะไปโดยปริยาย
ยกตัวอย่างหลายบริษัท เมื่อฝ่าย HR หรือ หัวหน้างาน เอ่ยถามพนักงานที่มาสายบ่อยๆว่า “ทำไมมาทำงานสาย” มักได้ยินคำตอบแก้ตัวซ้ำๆ เดิมๆ ว่า “รถติด ฝนตกหนัก รถขาดระยะ รถไฟฟ้าขัดข้อง หรือ ติดภารกิจที่คนอื่นใช้ให้ทำ” การตอบแบบนี้เสมือนปัดกลายๆ ว่า “ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฉัน”
ทั้งที่จริงพนักงานควรต้องรับรู้ เคารพกฎบริษัท และคำนวณเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาดในการเดินทางแต่ละวันเอาไว้แล้วเพื่อมาให้ทันเวลา และสิ่งที่ควรเป็น คือ ยอมรับผิด การขอโทษ รวมถึงการพยายามปรับตัวให้ดีขึ้นเป็นมาตรฐาน กล่าวคือ นอกจากขอโทษในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วยังจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ทฤษฎีเชิงจิตวิทยา คนที่เอาแต่แก้ตัว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มักตั้งต้นมาจากความคิดว่า “ฉันไม่ผิด” “ฉันรู้” “ฉันไม่เกี่ยว” “คนนั้นต่างหากที่ผิด” ด้วยจิตใต้สำนึกที่ไม่ต้องการถูกตำหนิ ไม่ต้องการเสียหน้า และต้องการเป็นที่ยอมรับ จึงมักคิดหาวิธีปกป้องตนเองว่า “จะให้เรื่องจบโดยไม่ต้องรับผิดชอบได้อย่างไร” “จะทำอย่างไรให้ตัวเองไม่โดนตำหนิ” “พยายามหาแนวร่วมว่าคนอื่นก็ทำผิดแบบเดียวกัน”
โดยทั่วไปเราจะพบลักษณะนิสัยคนชอบแก้ตัว 2 แบบ คือ
- โยนความผิดให้ผู้อื่น คนอื่นทำฉันไม่ได้ทำ หรือ ทุกคนผิดหมด ใครๆ ก็ทำกันเพื่อแรงกดดันให้ตนเอง
- ยอมรับว่าผิด แต่เพราะฉันก็เป็นฉันอย่างนี้ ดังนั้นทุกคนต้องเข้าใจฉันเมื่อฉันทำผิด
ซึ่งทำให้เมื่อเกิดเหตุที่คนลักษณะนี้มีส่วนผิดทั้งทางตรง หรือ มีเอี่ยวรับผิดชอบด้วยก็ตาม ก็จะพยายามยกข้ออ้างต่างๆ นานา โทษระบบ โทษอุปกรณ์ โทษสังคม โทษคนรอบข้าง และเมื่อถูกตรวจพบความผิดซึ่งหน้า หรือ เรียกง่ายๆ ว่า โป๊ะแตก ก็จะอ้างข้างๆ คูๆ โดยลืมว่าขัดกับสิ่งที่ตัวเองเคยพูดก่อนหน้า
ทั้งหมดนี้ เหตุเพราะคนลักษณะนี้ไม่เคยคิดว่า “การเผชิญหน้ากับปัญหา” หรือ “การแสดงความรับผิดชอบ” เป็นเรื่องที่เหมาะสมและพึงกระทำ นั่นจึงส่งผลให้กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวเขาเหล่านั้น ค่อยๆ หมักหมมกัดกินชีวิต นำสู่ความล้มละลายทางความเชื่อถือ กลายเป็นคนไม่น่าร่วมงาน ไม่น่าคบค้าสมาคม ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่มีชีวิตล้มเหลวในท้ายที่สุด
ดังนั้นการฝึกตนเองให้ “กล้าเผชิญ กล้ายอมรับความจริง และมองหา solution ในการแก้ไข” น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและทางออกที่เหมาะสมสุดในเรื่องนี้
หลายองค์กรขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤติ ผู้นำของเขาเหล่านั้น มักเลือกที่จะมองหาวิธีพลิกวิกฤติเป็นโอกาสมากกว่าการพยายามหาวิธีแก้ตัว หรือ ชี้นิ้วหาคนผิด ปัดความผิดให้พ้นตัวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาจากฉัน แต่จะมีใคร หรือ องค์กรใดบ้างก็ลองมองหาและมาแชร์กันดู