พออยู่ พอกิน มีเหลือ เผื่อปัน วิถีสร้างสุขฝ่าวิกฤตโควิด-19

0
636
kinyupen

“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

วลีที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ได้เคยกล่าวไว้ในอดีตไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปียังคงอมตะเสมอ แม้กระทั่งในวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้

 

เมื่อไม่กี่วันผ่านมา หลายท่านคงทราบถึงเรื่องราวดีๆ ของโครงการขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นการแลกเปลี่ยนปลาทะเลตากแห้งของเครือข่ายชาวเลภูเก็ตและพังงา กับข้าวสารและพริกแห้งของเครือข่ายชาวนาจังหวัดยโสธร ภายใต้การประสานงานของมูลนิธิชุมชนไท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กลุ่มชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์จนขาดรายได้ และเป็นการช่วยกระจายอาหารคุณภาพจากชาวเลให้แก่ชาวนาในภาคอีสาน

 

เหตุการณ์นี้ นอกจากเป็นธารน้ำใจที่เกิดขึ้นในวันที่คนไทยต้องเผชิญวิกฤตร่วมกัน ยังสะท้อนภาพวัฒนธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กลับมาสู่สังคมอีกครั้ง ด้วยการนำสิ่งที่ตนมีอยู่พอเหลือพอกินมา “แบ่งปันโดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ไม่ใช้เงินเป็นตัวกลาง และไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง” ซึ่งเคยถูกมองว่าหาได้ยากในสังคมที่ถูกทุนนิยม หรือ วัตถุนิยมชี้นำในปัจจุบัน

 

น่ายินดีที่โครงการได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเริ่มเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างมหาสารคามและตราด พังงาสนใจส่งปลาเข้ามาเพิ่ม อำนาจเจริญก็อยากนำข้าวมาแลกปลา ศรีสะเกษก็ส่งหอมแดง กระเทียม พริกเข้ามาแลกปลา โดยใช้โมเดลของโครงการฯ เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยังปรากฏขึ้นไม่ขาดสาย โดยชาวปกาเกอะญอ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ รวบรวมข้าวสารพันธุ์พื้นเมืองที่พวกเขาปลูกได้ในหมู่บ้าน มาเตรียมจัดส่งให้ผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย เพื่อตอบแทนน้ำใจคนเมืองที่ได้บริจาคอุปกรณ์ดับไฟป่าให้พวกเขาในช่วงก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก ถ้าย้อนไปก็จะพบว่าสังคมไทยมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของในลักษณะแบ่งปันพึ่งพาอาศัยระหว่างกันมานานแล้ว อาทิ วัฒนธรรมของชุมชนริมแม่น้ำมูลแถบอีสานตอนล่างในอดีตที่เรียกว่า “วัฒนธรรมข้าวแลกปลา-ปลาแลกข้าว” ที่นำปลาสดและปลาแดกปลาส้ม มาแลกกับข้าวสารของชาวนาบ้านโคก ปีละ 2ครั้ง คือ เดือนอ้ายกับเดือนหก (ลาว)

 

การแลกข้าวแลกเกลือ การนำผ้าทอ หมอน ไปแลกข้าว ปลา พริก หอมและกระเทียมแทนการซื้อขายระหว่างหมู่บ้านของชาวอีสาน ตลอดจนการแลกข้าวปลาอาหารระหว่างชาวเลชายฝั่ง –ชาวนา-ชาวสวนทางภาคใต้ และการแลกเปลี่ยนข้าว พืชผลการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ระหว่างชุมชนที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกภูมิภาค แต่ระยะหลังจะไม่ค่อยเห็นบ่อยนักในชุมชนเมือง มักเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนเกษตร ประมง หรือ ปศุสัตว์ ที่ห่างออกไปมากกว่า

 

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนพึ่งพาอาศัยกันของคนไทย ไม่เพียงมีผลแค่เรื่องของปากท้องชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงถึงการกระชับสัมพันธ์ มิตรภาพ รวมถึงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชุมชน สังคม ภูมิภาคที่ผูกพันในวิถีคนไทยมาตลอด นั่นจึงทำให้เมื่อพื้นที่ใดต้องเผชิญวิกฤตก็จะพบว่าน้ำใจคนไทยไม่เคยเหือดแห้ง พร้อมยื่นมือนำสิ่งที่มีอยู่เข้าไปให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ดังเช่นในวิกฤตโควิด-19 ที่เราทุกคนเผชิญอยู่นี้

 

ไม่ว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ช่วยสะท้อนอีกแง่มุมได้ว่า ท้ายสุดแล้วชีวิตคนเราเพียงแค่พออยู่ พอกิน มีเหลือ เผื่อปันก็เป็นสุขได้ โดยเฉพาะในช่วงที่รอบตัวต้องตกอยู่ในวิกฤต และบางครั้งการเป็นผู้ให้ก็อาจช่วยสร้างสุขได้มากกว่าเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  • เทคโนโลยีชาวบ้าน
  • บีบีซีไทย
kinyupen