เปิดตำนานหมูกระทะ เมนูที่โหยหาในยุค Social Distancing

0
1551
kinyupen
  • มีเรื่องเล่าว่า “หมูกระทะ” มีที่มาจากทหารมองโกลนำเนื้อแกะมาย่างบนหมวกเหล็กเพื่อคลายหิวขณะออกศึก
  • เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน ญี่ปุ่นเนื้อแกะล้นตลาดจึงนำมาปิ้งจนนิยมแพร่หลายเรียกเมนูนี้ว่า “เนื้อย่างเจงกิสข่าน” ก่อนที่จะกลายมาเป็นเนื้อย่างแบบยากินิคุที่เรารู้จักกัน
  • คาดว่าหมูกระทะเข้ามาในไทย ราวปี พ.ศ. 2510 โดยขายในภัตตาคาร เรียกว่า “เนื้อย่างเจงกิสข่าน” ส่วนทางอีสานนิยมเรียก “เนื้อย่างเกาหลี” ก่อนปรับสูตรมาเป็นหมูกระทะในปัจจุบัน
  • ช่วง พ.ศ. 2545 – 2549 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของร้านหมูกระทะ โดยเหล่าดารา นักร้อง ตลก นักกีฬาและคนมีชื่อเสียงมักลงทุนเปิดร้านหมูกระทะจนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเหมือนร้านกาแฟในปัจจุบัน

 

“เพราะอาหารการกินคือความสุขแบบหนึ่งของมนุษย์”

 

เชื่อได้ว่าเวลานี้ “หมูกระทะ” คือหนึ่งในอาหารที่หลายท่านถวิลหาในยุคที่เราต้องใช้ชีวิตแบบ Social Distancing หรือ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะนอกจากรสชาติและกลิ่นที่หอมโชยยั่วลิ้นแล้ว บรรยากาศการสังสรรค์เฮฮาหน้าเตาหมูกระทะช่วงสงกรานต์ร่วมกับญาติพี่น้องและ เพื่อนก็เป็นอีกปัจจัยที่หลายท่านยังคงคิดถึงเช่นเดียวกัน

 

แต่ทราบไหมว่าหมูกระทะที่กลายมาเป็นเมนูยอดฮิตของคนไทยจริงแล้วมีที่มาจากที่ใด เป็นเมนูไทยแท้หรือไม่ วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอรวบรวมมาให้ได้ทราบกัน (อ่านประกอบ : “หมูกระทะ” กับทฤษฎีความพึงพอใจของมนุษย์ )

 

ฟังเขาเล่าว่า..มีต้นกำเนิดจากนักรบมองโกล

จุดเริ่มต้นหมูกระทะไม่มีการบันทึกยืนยันหลักฐานแน่ชัดหากมีเรื่องเล่าหลายที่มา หนึ่งในตำนานน่าสนใจ มีอยู่ว่า ต้นกำเนิดหมูกระทะมาจากทางอาณาจักรจีนทางตอนเหนือในสมัยโบราณ เกิดขึ้นช่วงสงครามของเผ่ามองโกลระหว่างพักรบเหล่าขุนพลท่านข่านเกิดหิวจนตาลาย แม้มีเนื้อแกะติดตัวแต่ก็ไม่มีอุปกรณ์มาทำกิน จึงเอาหมวกเหล็กสำหรับออกรบมาไฟใช้แทนเตาเอาเนื้อแกะมาวาง ก็จะได้เป็นเตาย่างเนื้อแกะแบบพิเศษที่ทำให้เนื้อสุกเร็วและมีความอร่อยจนกลายเป็นที่มาแรกของการทำกระทะเพื่อนำมาทำอาหารปิ้งย่าง อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงเรื่องเล่าไม่ได้มีหลักฐานอ้างอิงใดชัดเจน

 

เนื้อย่างเจงกิสข่านสู่ยากินิคุ

เรื่องของหมูกระทะที่มีบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกเกิดขึ้นที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2461 สมัยนั้นเกาะแห่งนี้มีการเลี้ยงแกะเป็นจำนวนมากเพื่อเอาหนังไปใช้งาน นั่นทำให้ปริมาณของเนื้อแกะล้นตลาด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเริ่มส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคเนื้อแกะซึ่งวิธีที่นิยมกันก็คือนำมาย่างไฟนั่นเอง ต่อมาได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่า “เนื้อย่างเจงกิสข่าน” ขึ้นมาคาดว่าคิดขึ้นมาโดยนายโทคุโซะ โคมาอิ หนุ่มจากเมืองซัปโปโร่ เกาะฮอกไกโด โดยคาดกันว่าที่เขาตั้งชื่อนี้เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อย่างสไตล์จีนตอนเหนือนั่นเอง ต่อมาในปี พ.ศ.2479 มีการเปิดร้านเนื้อย่างเจงกิสข่านขึ้นครั้งแรกที่กรุงโตเกียว โดยใช้ชื่อร้านว่า Jingisu-sō ที่แปลว่า ร้านเจงกิส ก่อนที่ร้านแนวนี้จะได้รับความนิยมและเปิดกันมากมายทั่วกรุงโตเกียวในเวลาต่อมา

 

ทั้งนี้เมื่อมีผู้ที่นิยมรับประทานเนื้อแกะปิ้งย่างกันอย่างแพร่หลาย บวกกับญี่ปุ่นมีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา จากเดิมที่มีเพียงเนื้อแกะก็มีการปรับเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู กลายมาเป็นเนื้อย่างแบบยากินิคุที่เรารู้จักนั่นเอง

 

เกาหลีก็มีนะ

ชาวเกาหลีนั้นมีความเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ถือกำเนิดอาหารปิ้งย่างเช่นกัน เพราะมีรับประทานมาอย่างยาวนาน โดยเมนูนี้ทางเกาหลีจะเรียกว่า “บูโกลกิ” ที่มีความหมายว่าเนื้อแกะย่างเช่นกัน โดยอาหารประเภทนี้ได้รับความนิยมสูงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่างเกิดขึ้นภายในเกาหลีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ร้านอาหารเกาหลีที่เสิร์ฟปิ้งย่างยังเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นโดยจะเรียกว่าเป็นเมนูแบบโฮะโรมอนยากิ หรือ เรียกสั้นๆ ว่าอาหารโชซอน

 

แพร่หลายเข้ามาไทยนานกว่า 50 ปี

สำหรับประเทศไทย คาดกันว่าหมูกระทะเริ่มเข้ามาแพร่หลายราวปี พ.ศ.2510 มีการขายในภัตตาคาร เรียกว่า “เนื้อย่างเจงกีสข่าน” ในยุคแรกนั้นจะเน้นเสิร์ฟเป็นชุดๆ มีพนักงานย่างให้บนกระทะที่หน้าตาคล้ายปัจจุบัน โดยใช้เนื้อวัวเป็นหลักมีมันหมูสำหรับย่างให้น้ำมันไหลเคลือบกระทะและมีผักสำหรับย่างด้วย

 

ทั้งนี้ทางภาคอีสาน นิยมเรียกว่า “เนื้อย่างเกาหลี” โดยร้านต้นตำรับของอีสานที่ผู้คนมักกล่าวถึง คือ “หมื่นทิพย์เนื้อย่างเกาหลี” ที่จังหวัดอุบลราชธานี อีกร้านที่เรียกว่าเป็นต้นตำรับและคุ้นหูสำหรับวัยโจ๋ยุค 90 เป็นอย่างดี คือ “ไดโดม่อน” ที่ทำร้านปิ้งย่างแนวใหม่ ในยุคนั้น (ประมาณ พ.ศ.2528 – 2529) เป็นสไตล์บุฟเฟ่ต์ที่เลือกอาหารได้ตามใจชอบจากเมนูที่ทางร้านมี

 

ในเวลาต่อมาร้านประเภทปิ้งย่างเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้นเรื่อยมีร้านผุดขึ้นมากมาย ซึ่งมักใช้ชื่อว่า “ร้านเนื้อย่างเกาหลี” ส่วนเมนูสำหรับผู้ไม่นิยมทานเนื้อวัวก็ดัดแปลงเป็น หมู ไก่ และอาหารทะเล โดยเฉพาะช่วง พ.ศ. 2545 – 2549 ถือว่าเป็นยุคที่ร้านหมูกระทะเฟื่องฟูมาก กลายเป็นธุรกิจยอดฮิตของเหล่าดารา นักร้อง ตลก นักกีฬาและคนมีชื่อเสียงของไทย ทำให้เรามักพบร้านหมูกระทะทั่วทุกหนแห่งเช่นเดียวกับร้านกาแฟในปัจจุบัน

 

จนถึงทุกวันนี้ “หมูกระทะ” ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น รวมถึงมีพัฒนาการที่เป็นทางเลือกหลากรูปแบบ อาทิ บุฟเฟ่ต์นานาชาติ ตลอดจนการปรับวัตถุดิบเมนูที่หลากหลายถูกปากคนไทยในแต่ละเทศกาล หรือ ให้บริการแบบเดลิเวอรี่ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน และกลายเป็นอาหารมื้อใหญ่ที่คนไทยต้องมีควบคู่กับการฉลองโอกาสพิเศษ ช่วยสร้างความอร่อย อิ่มอกอิ่มใจ สานสัมพันธ์สร้างความสนุกสนานไปพร้อมกัน

 

ช่วงสงกรานต์นี้ แม้หลายท่านไม่สามารถกลับไปรวมตัวสังสรรค์กับญาติ พี่น้อง เพื่อนๆ ที่บ้านเกิดได้ ก็ลองปรับมาใช้วิธีสังสรรค์ทางวิดีโอคอลบน Line Group แล้วแข่งกันปิ้งหมูกระทะอวดชาวแก๊ง หรือ ญาติดูก็น่าจะช่วยบรรเทาความคิดถึงกันได้ไม่น้อยเลย #เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

 

ขอบคุณข้อมูล

  • Chiangmainews
  • Foodpanda
  • Pantip
kinyupen