Last Letter : จะได้ไม่ “ติดค้าง” ตัวเอง – มองผ่านหนัง by “เกี๊ยง” นันทขว้าง สิรสุนทร

0
847
kinyupen

ผมเป็นคนไม่ขายหรือทิ้ง “โทรศัพท์มือถือ” ด้วยเหตุผลส่วนตัว หลายๆอย่าง…

 

นั่นหมายความว่า ตั้งแต่โนเกีย 3210 มา “แบล็คเบอรีย์” แล้วหยุดที่ไอโฟนตระกูลเดียว ผมจึงยังมีอยู่ครบทุกเครื่อง มือถือที่ถ่ายภาพได้ รูปต่างๆก็ยังคงนอนนิ่ง ในรุ่นนั้น และเก็บรวมกันใน “กล่องความหลัง”

ที่นานๆ ก็เอามาไล่ดูภาพ “วันเก่าก่อนอันอ่อนหวาน”

 

อันที่จริง ทุกคนมีวันเก่าก่อน กันทั้งนั้น นี่เป็นเหตุผลว่า เวลาเราได้ยินชื่อหนังที่มีคำว่า Letter หรือจดหมาย ก็มักจะอ่อนไหวทุกทีไป จดหมายหรือกระดาษเขียน เป็นตัวแทนด้านจิตใจ ที่มักพาคุณหรือใคร เดินทางกลับไปในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเขียนไปขอรูปดาราสมัยเรียน,  จดหมายเขียนไปหาบรรณาธิการนิตยสาร หรือจดหมายทายคำถามชิงรางวัลตอนมัธยม

 

 

 

สำหรับ เคียวชิโร่ ใน Last Letter เป็นจดหมายรัก…

 

บางคนอาจเคยเป็นเด็กหนุ่มที่หลงทางกับความใคร่ แล้วบาดเจ็บกับความรัก แต่ เคียวชิโร่ เขาซื่อใสกับความรู้สึกที่มีกับ มิยากิ “พี่สาว” ของเพื่อนร่วมห้อง เพื่อนของเขาคือ ยูริ จึงแนะนำว่า ทำไมไม่เขียนจดหมายไปจีบ เขียนมาให้เธอ แล้วเธอกลับบ้าน ก็เอาไปให้พี่สาว…

เคียวชิโร่ ทำตามนั้น โดยไม่รู้เลยว่า จดหมายฉบับแล้วฉบับเล่า ไม่เคยไปถึง มิยากิ เพราะ ยูริ แกะอ่านเอง เนื่องเพราะ ยูริ เอง ก็แอบชอบ เคียวชิโร่ อยู่ในใจ การได้อ่านจดหมายรักของ เขา ในทางจิตใจ เธอจึงได้ดื่มด่ำ(savor) รสรักจากผู้ชาย อย่างไม่เป็นทางการ

 

“จดหมาย” จึงเป็นตัวละครหนึ่งในหนัง ที่สร้างความเข้าใจผิดหลายอย่าง ทั้งคนที่ได้อ่านและไม่ได้อ่าน ความเข้าใจผิดนั้น กินเวลายาวนานทีเดียว …และแม้ว่า “คนที่เกี่ยวข้อง” กับจดหมาย จะมีเติบโตไปมีชีวิตของตัวเอง

แต่เหมือนมีอะไรบางอย่าง “ติดค้าง” อยู่ในใจ

 

สำหรับ เคียวชิโร่ การ “ติดค้าง” ในใจ ทำให้เขา “ตกค้าง” อยู่ในอดีต ไม่สามารถก้าวไปมีชีวิตที่สดใส สิ่งที่เขาจึงเลือกทำก็คือ วันหนึ่ง เมื่อเจอ มิยากิ อีกครั้งในงานคืนสู่เหย้ามัธยม เขาจึงติดต่อ สื่อสารกับมิยากิ โดยไม่รู้ว่า เธอคนนั้นเป็น ยูริ (ที่หน้าตาคล้ายกัน)

 

ที่เล่ามาทั้งหมด เป็นแค่เวลา 15 นาทีในหนังสองชั่วโมง ถ้านับจดหมายที่เขียนหลายฉบับ คุณจึงเดาไม่ออกว่า พล็อทจะจบลงอย่างไร

ผู้กำกับ ชุนจิ อิวาอิ โด่งดังมากในบ้านเราเมื่อปี 1995 กับหนัง Love Letter และต่อมากับ All About Lily Chou Chou (เรื่องหลังคือแบบเบ้าของตัวละคร ที่เรียกว่า lost soul เป็นตัวละครที่ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ ต้องบินไปเรื่อยๆ อย่างบาดเจ็บ ลองไปดูบทของ เลสลี จาง ใน Days of Being Wild)

 

มีคนถามว่า ชุนจิ เป็นสไตล์ไหน ตอบได้ง่ายมากว่า เป็นสไตล์เดียวกับ เต๋อ นวพล ที่ไม่มากก็น้อย คนหลัง ก็น่าจะชื่นชอบคนแรก อยู่ในใจ …ทั้งสองคนทำหนังคล้ายๆกัน ไม่มีสถานการณ์ในหนังมากนัก ตัวละครพูดน้อย และก็ไม่ต้องชัดเจนมากในตอนจบ

เพราะประเทศที่ฉายหนังชัดเจนมาก ไม่ต้องคิดอะไรเลย… มักจะดราม่าได้ ตั้งแต่หน้ากาก ไปจนถึงลมพัดแรง

 

ผมชอบตอนที่ เคียวชิโร่ ใช้เวลากลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า บ้านเก่า โต๊ะเรียนเก่า และเปิดอ่านจดหมายเก่า

ตำแหน่งของเขา ตกอยู่ในจุดอับ… เขาใส่เสื้อดำ คนอื่นๆใส่เสื้อขาว, เคียวชิโร่นั่ง คนอื่นๆ ยืน ที่ชัดมากก็คือ หนังจัดไฟแบบ low key เพื่อสะท้อน “จิตใจอับมืด” และชื้น…

 

อย่างที่เรียนว่า หนังเรื่องนี้ เลี่ยงการใช้สถานการณ์ ถ้าเป็นหนังไทย ฉากที่ เขาไปหาสามีเก่าของ มิยากิ จะต้องจบลงที่เขาต่อยผัวนาง …ชุนจิ สง่างามกว่า เขาไม่ทำอะไรไร้รสนิยมแบบนั้น

ผมไม่คิดว่า Last Letter เป็นหนังรักตรงๆ แม้จะใช้พล็อตทางนี้ นี่เป็นหนังที่ตัวละครไถ่ถอนตัวเอง จากความหลัง

ผู้กำกับหนัง ชุนจิ อิวาอิ ในวัยใกล้ 60 อาจจะมี something กับวารวัน

ยิ่งถ้าคิดว่า เคียวชิโร่ ใช้การเขียนหนังสือขาย ปลดเปลื้องตัวเขาจากความรัก

 

อาจเป็นไปได้ว่า ชุนจิ ก็ทำหนัง เพื่อ “ไม่ติดค้าง” กับใครอีก

 

หลังจากหัวใจ “ตกค้าง” ในปฏิทินเก่า …มานาน

 

มองผ่านหนัง by “เกี๊ยง” นันทขว้าง สิรสุนทร

kinyupen