ย้อนกลับไปปี พ.ศ.2540 ด้วยนโยบายเปิดเสรีการเงินที่ทำให้นักลงทุนกู้เงินต่างประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารในประเทศ จนเปรียบเปรยกันว่า “ภาวะฟองสบู่” ส่งผลให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เร่งลงทุนจำนวนมาก อสังหาริมทรัพย์ผุดเป็นดอกเห็ด ตลาดหุ้นถูกปั่นราคาให้หวือหวาล่อตานักลงทุน เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่ฟุ่มเฟือย เศรษฐีเทียมจากเงินกู้เต็มไปหมด
แต่เมื่อฟองสบู่แตก รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและเข้าสู่กระบวนการของ IMF บ้านเมืองช็อคชั่วขณะ ตกอยู่ในสภาพซึมเศร้า นักธุรกิจหนีหนี้ ก่อสร้างทิ้งงาน ค้าขายลงทุนหยุดชะงัก ตึกร้าง หมู่บ้านจัดสรรร้าง บริษัทล้มละลาย ลอยแพพนักงานจำนวนมาก มองทางไหนก็มีแต่คนตกงาน คนรวยกลายเป็นคนจน เศรษฐีต้องนำทรัพย์สินมาเร่ขายจนเกิด “เปิดท้ายขายของ” ทั่วมุมเมือง
หลังวิกฤตดังกล่าว “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ก็ได้ถูกหน่วยงานรัฐน้อมนำมาใช้เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ขณะที่องค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ก็นำมาประยุกต์เป็นแนวทางบริหาร ตลอดจนภาคประชาชนก็ปรับใช้กับการดำเนินชีวิต ซึ่งเมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันนับหนึ่งใหม่เพื่อคลี่คลายวิกฤตครั้งนั้นไปพร้อมกัน ประเทศไทยก็ค่อยๆ เดินหน้าฝ่าฟันผ่านเสือตัวนั้นไปได้ด้วยดี
“….ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำสมควรที่จะปฏิบัติ……….”
นี่คือหนึ่งในแก่นสำคัญแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทีมงานมองว่าทุกภาคส่วนสามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกวิกฤต ทุกยุคสมัย รวมถึงปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ด้วยก็ดี
ขอขอบคุณภาพจาก : สราวุธ อิสรานุวรรธน์ / Facebook : Iamzoof