ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เปิดเผยในวารสาร Nature Medicine เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมาว่าจากการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการชราภาพของมนุษย์ในระดับโมเลกุล เพื่อค้นว่า “เหตุใดมนุษย์แต่ละรายจึงมีความแก่ชราไม่เท่ากัน?” พบคำตอบน่าสนใจว่า
“มนุษย์แต่ละรายมีลักษณะ หรือ รูปแบบการแสดงออกที่สะท้อนถึงความแก่ชราได้อย่างน้อย 4 ด้าน ไม่จำกัดเฉพาะแค่หน้าตา หรือ ผิวพรรณที่เหี่ยวย่น แต่ยังประกอบด้วย 1. กระบวนการย่อยอาหารและเผาผลาญพลังงาน 2. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 3. การทำงานของตับ 4. การทำงานของไต”
ความเสื่อมถอยแต่ละด้านจะปรากฏผลให้ร่างกายถูกบั่นทอนนำสู่การถดถอยและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ ผู้ที่กระบวนการเผาผลาญเสื่อมถอยก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันก็จะติดเชื้อ หรือ ป่วยง่าย ส่วนผู้ที่ตับหรือไตมีปัญหาก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคในส่วนนั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยขยายความเพิ่มเติมว่ามนุษย์แต่ละคนไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องมีช่องทางหรือกระบวนการเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะบางคนอาจจะมีมากกว่าหนึ่งด้านก็ได้ ซึ่งถ้าเข้าใจร่างกายได้ว่ามีความเสื่อมถอยเกิดขึ้นและแสดงออกผ่านทางช่องทางใด ก็อาจเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสให้สามารถเข้าไปหาวิธีควบคุมจัดการ ปรับเปลี่ยน หรือ พยายามชะลอกระบวนการชราภาพ
ทั้งนี้ แพทย์ทราบมานานแล้วว่า เมื่อมนุษย์แก่ตัวลงนั้น ระดับของสารบ่งชี้บางอย่างจะเปลี่ยนไป เช่น มีคอเลสเตอรอลสูงขึ้น การทำงานของจุลชีวะบางอย่างในระบบลำไส้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีไขมันและโปรตีนต่าง ๆ มากขึ้นด้วย ดังนั้นเหล่านักวิทยาศาสตร์ จึงหวังว่าข้อมูลและความรู้ที่จะได้จากการศึกษาเพิ่มเติมครั้งนี้ จะช่วยให้สามารถออกแบบกระบวนการเพื่อชะลอความแก่ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลได้ในที่สุด
อนึ่งผลการศึกษาดังกล่าว เกิดจากการวิจัยในกลุ่มตัวอย่างอายุ 34 ถึง 68 ปีจำนวน 43 คนเป็นเวลาสองปี ผ่านการเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระเพื่อศึกษาสารเคมีที่ช่วยบ่งชี้ของร่างกาย
ข้อมูลอ้างอิง www.medicalnewstoday.com