เมื่อคนเราเกิดอาการฟินมากกับกิจกรรมใด กิจกรรมหนึ่ง เคยไหมที่จะถามตัวเองว่า..แล้วจุดหมายสิ้นสุดที่ตรงไหนอาการแบบนี้ จะเห็นได้ชัดในหมู่นักวิ่งที่มักเขยิบเป้าหมายจากนักวิ่งสมัครเล่นระยะ 5 กิโลเมตรไต่ขึ้นไปสู่ 10 กิโลเมตร ฮาล์ฟมาราธอน( 21 กิโลเมตร) จนถึง ฟูลมาราธอน (42 กิโลเมตร) และจากรายการในบ้านก็สู่รายการนอกบ้านขยับไกลออกไป
นักวิ่งแทบทุกคนจะบอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะความรู้สึกที่ได้คือ การพิสูจน์การเอาชนะตัวเอง เอาชนะทั้งร่างกายและ จิตใจที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด
วันนี้ทีมงานกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราวของ พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน หนึ่งตัวอย่างผู้ที่มีจุดเริ่มต้นจากการวิ่งระยะสั้นเพื่อสุขภาพ ก่อนผันสู่ผู้พิชิตเส้นทางหฤโหดของเอเวอเรสต์มาราธอน และกำลังจะก้าวสู่เส้นทางที่ยากขึ้นอีกระดับ คือการปีนธารน้ำแข็งที่ความสูงกว่า 4,000 เมตรบนเทือกเขาแห่งเนปาล
จุดเริ่มในการวิ่งของพิพัฒน์ คือวิ่งระยะสั้นเพื่อรักษาสุขภาพ หากเมื่อสุขภาพเข้าที่ เป้าหมายก็เขยิบตามความรู้สึกที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ไต่สู่ฮาล์ฟมาราธอน มาราธอนทั้งในและต่างประเทศจากนั้นขยับสู่การวิ่งเทรล ที่เป็นการวิ่งแบบผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็น ป่า ภูเขา หรือ ทุ่งหญ้า แล้วแต่ภูมิประเทศของรายการที่จัดงาน นั่นคือที่มาของวิ่งรายการเอเวอเรสต์มาราธอน ระยะทาง 42 กิโลมตร ที่ความสูง 5,300 เมตร ไม่รวมการเดิน Trekking ระยะทาง 60 กิโลเมตร และอย่างที่พิพัฒน์ บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจคือ
อ่านประกอบ : เปิดบันทึก “คนไทยผู้พิชิต Everest Marathon 2019” บอกเล่าเส้นทาง อารมณ์ ความรู้สึกผ่านภาพถ่าย
ทุกเส้นทางมีเรื่องราวมากมายรอให้พบเจอ นั่นคือความสนุกที่เกิดขึ้น จึงเป็นแรงบันดาลใจในการมองหาสนามใหม่ๆ เส้นทางใหม่ๆ เพื่อพาตัวเองออกไปวิ่งพิชิตความท้าทายที่รออยู่เสมอ พยายามหาโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ให้กับตนเอง โดยแต่ละครั้งจะวางแผนซ้อมอย่างเป็นระบบ กำหนดเป้าหมายการซ้อมแต่ละวันที่ชัดเจน
วันนี้พิพัฒน์ จึงวางแผนอีกก้าวของความท้าทายใหม่ คือการปีนธารน้ำแข็ง โดยเริ่มจากเข้าคอร์สปีนธารน้ำแข็งกับ The Khumbu Climbing Center สถาบันสอนเทคนิคการปีนเขาที่มีชื่อเสียงของเนปาล ก่อตั้งโดยนักปีนเขาสองสามีภรรยาชื่อดังคือ Alex Lowe และ Jennifer ร่วมกับ Conrad Anker แบรนด์พรีเซนเตอร์ The North Face
ทั้งสามคนร่วมกับ Pemba Sharwa ทายาทตระกูลนักปีนเขาชื่อดังชาวเฌอปา (หลานปู่ของ Tenzing Norgay ผู้พิชิตเอเวอเรสต์ร่วมกับเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่) ซึ่งก่อตั้งสถาบันนี้เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของเนปาล และมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
นอกจากคนท้องถิ่นแล้วสถาบันนี้ยังเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถลงเรียนได้ด้วย โดยระยะเวลาเรียนมีตั้งแต่ 2 – 4 สัปดาห์ ขึ้นกับหลักสูตร ที่มีตั้งแต่คอร์สการปีนเขาทั่วไปจนถึงขั้นแอดวานซ์ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคอร์สอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 ดอลล่าร์ (ไม่รวมค่าเดินทางและที่พัก)
การเรียนปีนเขาแบบ Indoor หรือ Rock climbing ปกติ สามารถเรียนได้ตลอดปี แต่สำหรับหลักสูตรปีนธารน้ำแข็งช่วงเวลาที่เหมาะสมสุดคือช่วงเดือนมกราคม เพราะอากาศบนเขาที่เนปาลจะหนาวมากจนธารน้ำตกที่ไหลมากลายเป็นน้ำแข็ง เรียนที่ระดับความสูงประมาณ 4,000 กว่าเมตร จากระดับความสูงจริงกว่า 7,000 เมตร ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม www.alexlowe.org/projects/kcc
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างนักวิ่งผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด และสร้างความท้าทายกว้างออกไป เพราะเชื่อว่าความอยากทำสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆเป็นปกติวิสัยของมนุษย์