รู้จักเชื้อ “โคโรน่า” ไวรัสต้องสงสัย ต้นเหตุโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น

0
570
kinyupen

หลังการระบาดของโรคปอดอักเสบในเมืองอู่ฮั่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ผลการค้นพบเบื้องต้นชี้ว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่  ซึ่งขณะที่กำลังมีการสืบสวนเพิ่มเติมเพื่อระบุแหล่งที่มา, โหมดของการแพร่เชื้อ, ขอบเขตของการติดเชื้อ และการใช้มาตรการรับมือ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน โดยล่าสุดมีรายงานการพบผู้ป่วยต้องสงสัยป่วยเป็นโรคดังกล่าวแล้วในฮ่องกง และสิงคโปร์ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตขอพาไปรู้จักเชื้อโคโรน่า “ไวรัส” ต้องสงสัยต้นเหตุโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น  พร้อมวิธี ป้องกันอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ

 

สำหรับในประเทศไทยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยได้ทำการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยการคัดกรองอาการไข้ และอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ในผู้ที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น เข้ามาในประเทศ โดย กรมควบคุมโรค ได้มีคำเตือนเฝ้าระวังสำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางมาจากพื้นที่หรือ ประเทศที่พบว่ามีผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อเช่น เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน,สิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง  ดังนี้

สำหรับผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ภายใน 14 วัน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ หากมีอาการไข้  ไอ เจ็บคอ  มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ  ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้

สำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อปอดอักเสบควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

– หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะที่เป็นพิษ

– ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว และหมั่นล้างมือบ่อย

– รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

ไวรัสโคโรน่าคือ อะไร

จากข้อมูลของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า เชื้อไวรัสโคโรน่า (CoVs) เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA virus) ใน Family Coronaviridae มีรายงานการพบเชื้อมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1965 โดยสามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและสัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร ประกอบด้วยชนิดย่อยหลายชนิดและทำให้มีอาการแสดงในระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ (รวมถึงโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส; SARS CoV) ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หรือระบบอื่นๆ โดย พบได้ทั่วโลก โดยในเขตอบอุ่น (temperate climates) มักพบเชื้อโคโรนาไวรัสในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ การติดเชื้อโคโรนาไวรัสอาจทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ถึงร้อยละ 35 และสัดส่วนของโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสอาจสูงถึงร้อยละ 15

การติดเชื้อพบได้ในทุกลุ่มอายุ แต่พบมากในเด็ก อาจพบมีการติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากระดับ ภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการติดเชื้อ สำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (SARS CoV) พบการระบาดปี พ.ศ. 2546 โดยพบเริ่มจากประเทศจีนแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลกพบรายงานผู้ป่วยโรคซาร์สทั้งสิ้นมากกว่า 8, 000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 750 ราย

ลักษณะโรค ที่เกิดจาก การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Coronaviruses) อาจทำให้เกิดอาการดังนี้

  • ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ โดยในทารกที่มีอาการรุนแรง อาจมีลักษณะของปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด(Asthma) ส่วนในผู้ใหญ่ อาจพบลักษณะปอดอักเสบ (Pneumonia) หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronicbronchitis) หรือการกลับเป็นซ้ำของโรคหอบหืดได้ และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยพบการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการได้ในทุกอายุ และหากแสดงอาการ
  • มักพบร่วมกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น Rhinovirus, Adenovirus หรือเชื้ออื่นๆ
  • การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome;SAR CoV) จะพบมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แล้วมีอาการไอ และ
  • หอบเหนื่อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งอัตราตายจะสูงขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว
  • การติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Coronaviruses) มักพบบ่อยในเด็ก
  • แรกเกิด และทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี หรืออาจพบในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยพบเชื้อได้แม้ผู้ป่วย
  • ไม่แสดงอาการ และไม่มีฤดูกาลการเกิดโรคที่แน่นอน

วิธีการแพร่โรค : แพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัส (Contact) กับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หรือแพร่กระจายเชื้อจากฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย (Droplet) จากผู้ป่วยที่มีเชื้อโดยการ ไอ หรือจาม

การป้องกัน :

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
  • ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเวลา ไอ หรือจาม
  • ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความ เสี่ยงในการติดโรค
kinyupen