4 กับดักสร้างหนี้..วนไป สไตล์มนุษย์เงินเดือน

0
1006
kinyupen

เคยตั้งคำถามไหม? ทำไมใช้เงินเดือนชนเดือนทุกที เงินเก็บก็ไม่มี ใช้หนี้เท่าไรไม่หมดซะที แถมเผลอแป๊บเดียวมีหนี้เพิ่มอีกแล้ว…จน เครียด ใช้หนี้ วนไป ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ แสดงว่านี่เป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับภาวะการเงินของคุณ ว่ากำลังเริ่มเข้าสู่โหมดอันตรายแล้ว ดังนั้นกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงอยากเชิญทุกท่านมาสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองกันดีกว่า ว่าในปีที่ผ่านมานี้ยังติดอยู่ในกับดัก 4 ข้อนี้หรือไม่ และควรทำอย่างไรดี เผื่อจะนำไปเริ่มต้นปรับพฤติกรรมใหม่รับปีวัวกันดีกว่า

 

 

ละเลยเพิกเฉยการออม

“พรุ่งนี้ค่อยเริ่ม” “เดือนหน้าแล้วกัน” “ยังมีเวลาอีกเยอะ” ประโยคง่ายๆ อาจทำให้คุณละเลย หรือ ขาดความเคร่งครัดการออมเงิน ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนวัยเริ่มต้น เพราะแม้บางท่านจะบอกว่า Fix รายรับ และ รายจ่ายประจำแต่ละเดือนแน่นอนอยู่แล้ว แต่เมื่อชีวิตมักมีเรื่องไม่คาดคิดมาเซอร์ไพร์สอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าคุณต้องตกงานสายฟ้าแล่บ ป่วยกะทันหัน ภาระทางบ้านต้องการเงินด่วน หรือ ต้องใช้จ่ายซื้อของชิ้นใหญ่ที่จำเป็น นั่นอาจเป็นภาวะที่ผลักให้คุณต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำบัตรเครดิต ที่อาจเป็นต้นเหตุก่อหนี้ก้อนโตที่อาจสร้างความปวดหัวตามมาในอนาคตได้

ควรเริ่มออมเงินเสียแต่ตอนนี้เลยดีกว่า จะออมแบบรายวัน รายสัปดาห์ หรือ รายเดือนก็ดีทั้งนั้น โดยทำควบคู่ไปกับบันทึกรายรับ – รายจ่าย เพื่อจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วแต่ละเดือน เราหมดไปกับอะไรบ้าง นั่นอาจทำให้คุณมีเงินออมเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ โดยหลักวางแผนการเงินที่ง่ายสุด  คือ คำนึงไว้เสมอว่า ให้นำเงินได้มาหักเงินออมก่อน จากนั้นจึงนำมาคำนวณรายจ่ายต่อไป

เทคนิคดัดนิสัย : เมื่อได้เงินเดือนมาอาจตัดทุก 5 – 10% ของเงินเดือน หรือ เริ่มที่เดือนละ 500 บาท ก็ได้ คิดซะว่างดบุฟเฟต์ปิ้งย่างชาบู ซัก 1 มื้อ มาแบ่งเก็บด้วยวิธีง่ายสุด คือ บัญชีฝากประจำรายเดือนธนาคารต่างๆ ที่มีให้เลือกมากมาย แม้ตอนนี้ดอกเบี้ยจะน้อยหน่อย แต่นี่เป็นการสร้างวินัยการเงินที่ง่ายสุด และเมื่อคุณพอมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งแล้ว ก็อาจแบ่งบางส่วนไปต่อยอดในกองทุน หรือ หุ้น ก็ได้ แต่อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยงนะจ๊ะ

 

 

ใจเร็วรูดง่าย จ่ายไม่ครบ ไม่จบ ไม่เป็นไร

หลายท่านที่มีบัตรเครดิต อาจขาดการวางแผน หรือ ตั้งงบว่าแต่ละเดือนจะใช้จ่ายที่วงเงินไม่เกินเท่าไร ดังนั้นเมื่อเจอสินค้ายั่วใจก็อาจโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของตัวเองเผลอรูดบัตรเครดิตรัวๆ โดยไม่ประมาณตน จนลืมไปว่าเดือนนั้นเรามีเงินเหลือมากพอที่จะจ่ายหรือไม่ และถ้าไม่มีเงินออมก็ยิ่งเจ็บ เพราะเมื่อไม่สามารถจ่ายโปะได้หมด ก็ได้แต่จ่ายขั้นต่ำ ซึ่งทราบหรือไม่ว่ามีดอกเบี้ยรวมอยู่ในนั้นด้วย ทำให้เราต้องจ่ายพอกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด หากสามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนดก็หมดปัญหา แต่ติดขัดขึ้นมาอาจเสี่ยงที่จะติดเครดิตบูโร จนทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินขนาดใหญ่ อาทิ ขอสินเชื่อธนาคาร กู้ซื้อรถ และกู้ซื้อบ้าน จนกว่าจะชำระหนี้เดิมหมด และต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีกันเลย ดังนั้นถ้าใครยังมีพฤติกรรมแบบนี้ควรเลิกซะ

เทคนิคดัดนิสัย : ควรกำหนดวงเงินใช้จ่ายที่ชัดเจนว่าไม่เกินเท่าไร เราถึงสามารถจ่ายได้หมดโดยไม่กระทบรายจ่ายส่วนอื่น แต่ถ้าใครกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ควรเริ่มแบ่งหนี้ให้เป็นสัดส่วน ดูสภาวะรายรับ รายจ่าย เพื่อเกลี่ยบางส่วนมาทยอยจ่ายให้หมด หรือ ถ้ามีเงินรายรับพิเศษที่เป็นเงินก้อนใหญ่ อาทิ โบนัส คอมมิชชั่น ก็ควรนำมาโปะหนี้ก้อนนี้ให้เร็วที่สุด และที่สำคัญ “อย่าไปกู้ยืม” มาจ่ายล่ะ ไม่งั้นจะเป็นหนี้วนไปไม่จบเสียที

 

หยิบตรงนั้น โปะตรงนี้ ไม่คุมรายจ่าย

แม้บางท่านจะมีการวางแผนแยกรายรับ รายจ่ายอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่สามารถเข้มงวดกับการใช้จ่ายได้ตามแผน  เพราะมักนำเงินที่กันไว้สำหรับจ่ายหนี้สิน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต มาใช้ปะปนกับค่ากินใช้ในชีวิตประจำวัน หรือ นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อาทิ กดเงินบัตรเครดิตไปจ่ายหนี้นอกระบบ แล้วนำเงินผ่อนบ้านไปจ่ายบัตรเครดิต ทราบไหมว่าการใช้จ่ายแบบนี้ ส่งผลเสียระยะยาวตามมา ทำให้แผนการเงินรวนทั้งระบบ และอาจทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นมาโปะต่อไปเรื่อยๆ  ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ต้องแยกรายจ่ายให้ชัดเจนและไม่ไปยุ่งโดยเด็ดขาด

เทคนิคดัดนิสัย : นำเงินจ่ายหนี้ที่เตรียมไว้ไปแยกเก็บใส่กล่อง หรือ ออมสิน เมื่อถึงเวลาค่อยนำมาชำระตามปกติ หรือ ถ้าเผลอใช้ไปก็ควรหักรายจ่ายประจำวันนั้นๆ มาคืนทดแทนส่วนที่ใช้ไป

 

ติดบ่วงช่วงเซลล์

อีกหนึ่งปัญหาของขาช็อปทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ โดยเฉพาะในยุคที่การช็อปปิ้งเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว ห้าง ร้าน หรือ เว็บช็อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ จึงแข่งกันปล่อยโปรโมชั่นเด็ดออกมาล่อตาล่อใจทุกเทศกาล ดังนั้นถ้าใครใจไม่แข็งพอละก็อาจทำให้ช็อปจนทะลุเพดานเงินที่เรามีอยู่ก็ได้  จริงๆ แล้วการมีนิสัย หรือ พฤติกรรมที่ชอบช็อปปิ้งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดหากใช้จ่ายตามกำลังทรัพย์ที่มี แต่ถ้าใช้จ่ายโดยไม่ประมาณตนบ่อยเข้าจะส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดหนี้สินตามมา

เทคนิคดัดนิสัย : ตั้งสติแล้วคิดทบทวนก่อนซื้อทุกครั้ง ว่าของที่จะซื้อจำเป็นมากน้อยเพียงใด และ เงินที่มีอยู่พอจ่าย หรือ จ่ายไปแล้วจะกระทบกับการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ หรือไม่

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 

ถ้าเช็คแล้วพบว่าใครยังติดกับดัก 4 ข้อนี้อยู่  ก็อาจค่อยๆ เริ่มนำไปใช้ปรับทีละข้อ กินอยู่เป็นขอเอาใจช่วย

kinyupen