น้ำมะนาวโซดารักษามะเร็ง, ไทยมีน้ำมันดิบมากกว่าซาอุฯ, กัญชายาครอบจักรวาล, รังสีไมโครเวฟทำให้เกิดมะเร็ง ฯลฯ เชื่อว่าข้อความเหล่านี้คงเคยผ่านตาทุกท่านบนโซเชียลมีเดียมาแล้ว และแม้มีการออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้แล้วว่า “ไม่จริง” แต่ยังมีคนแชร์ต่อไม่ลดละ
การแชร์ข่าวปลอมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมานาน สมัยก่อนเกิดในรูปแบบฟอร์เวิร์ดเมล์ ก่อนปรับรูปแบบมาทางเฟซบุ๊ก ไลน์ มีการเติมวลีต่างๆ ผสมข้อเท็จจริงหรือภาพตัดต่อ ซึ่งในไทยมักปรากฏโดยมีคำว่า “ข่าวด่วน” “ลับสุดยอด” “แชทลับ” “เตือนภัย” “แฉเบื้องลึก” “ความจริงที่ไม่เคยบอก” “เปิดหลักฐานปล้นประเทศ” ฯลฯ ผสมอยู่เพื่อดึงความสนใจ สร้างความรู้สึกร่วม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนข้อมูล 3 ประเภท
- อ้างข้อมูลเคล็ดลับสุขภาพ ผู้แชร์ส่วนใหญ่มักมีเจตนาที่ดีแต่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง ข้อมูลลักษณะนี้จึงมักไปสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับแพทย์ พยาบาล เพราะผู้รับสารบางท่านเลือกเชื่อข้อมูลจริงจังจนนำไปโต้แย้ง รวมถึงไม่ยอมรับวิธีรักษาที่ถูกต้องทางการแพทย์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีอุทาหรณ์ให้เห็นมากมาย
- การตัดต่อภาพเนื้อหาทางการเมือง ศาสนา ความเชื่อ สร้างความเข้าใจผิด ยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง พบมากในยุคที่มีการปะทะเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองสูงช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังดีที่ทุกวันนี้ภาครัฐมีนโยบายควบคุมเข้มงวดจริงจัง ผ่านการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ทำให้ปริมาณเริ่มเบาบางลง แต่ก็ยังพบเห็นได้อยู่
- ฉวยโอกาส สร้างความตระหนก หรือ หาผลประโยชน์ จากผลกระทบของภัยพิบัติ หรือ เหตุการณ์ในกระแสสังคม
จากข้อมูลที่ปรากฏ พบได้ว่าการแชร์ข่าวปลอมข้างต้นส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย หรือ คนที่มีวัยวุฒิสูง โดยเฉพาะวัยเกษียณที่รวมตัวเป็นไลน์กรุ๊ปบนความเชื่อเดียวกัน มักกลายเป็นเหยื่อของการส่งต่อข้อมูลที่ได้รับทันที หรือ ขาดการไตร่ตรองที่ดี เพราะบางท่านอาจรู้สึกว่าการได้ส่งข้อมูลลักษณะเชื่อได้ว่า “ลับ ด่วน ลึก” จะทำให้ตัวเองดูเป็นคนอินเทรนด์ที่เข้าถึงข้อมูลได้เร็วก่อนใคร
สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยของ New York University และ Princeton Universityที่เคยเผยแพร่ผ่านวารสาร Science Advances ว่ากลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมแชร์ข่าวปลอมถึง 11% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 18-29 ปีที่มีสัดส่วนเพียง 3% ทั้งยังมีความถี่ในการแชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มอายุ 45-65 ปีถึง 2 เท่าตัว และมากกว่ากลุ่มคนในวัย 18-29 ปีถึงเกือบ 7 เท่าตัว
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การแชร์ของกลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้นำความคิดที่ได้รับความน่าเชื่อถือในกลุ่ม หรือ สังคมนั้นจะเป็นเสมือน “การช่วยประทับตราความน่าเชื่อ” ส่งผลให้เจ้าตัวกลายเป็นแม่ข่ายที่กระจายแชร์ลูกโซ่ด้านข้อมูลผิดๆ ออกไปโดยไม่สิ้นสุดอย่างไม่รู้ตัว นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแชร์ข่าวปลอมโดยเฉพาะเกี่ยวกับเคล็ดลับ แฉเบื้องลึกต่างๆ จึงยังไม่ลดลงเสียที
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าข่าวปลอม เกิดจากคนสูงวัยเพียงกลุ่มเดียว เพราะหลายครั้งข่าวปลอมเกี่ยวกับบันเทิง กีฬา การเมือง ก็เกิดจากการปล่อยข่าวปั่นกระแสในกลุ่มคนวัยอื่นด้วย เรียกได้ว่าเกิดตามความสนใจแต่ละช่วงวัยนั่นเอง สามารถแบ่งกว้างๆ ดังนี้
กลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 22 – 55 ปี มักเผชิญกับข่าวปลอมที่มาในลักษณะการสร้างแรงบันดาลใจความสำเร็จ สิทธิประโยชน์ และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อสังคม อาทิ การแชร์คำคมที่ตูน บอดี้สแลม และโจอี้บอยไม่เคยกล่าว การตัดต่อบิดเบือนข่าวการเมือง นโยบายรัฐ เอกสารราชการ กรณีตายายเก็บเห็ดแล้วติดคุก วิธีสร้างรายได้ที่แฝงมากับแชร์ลูกโซ่ การแชร์เตือนแอปหน้าแก่ FaceApp ขโมยดูดข้อมูล รวมถึงปล่อยข่าวลือไวรัส โรคระบาดต่างๆ ซึ่งปัญหากลุ่มนี้คล้ายกับกลุ่มสูงวัยนั่นคือ การแชร์ของผู้นำความคิดมีผลมาก
กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 22 ปี มักเผชิญข่าวปลอมลักษณะข่าวลือดารา เน็ตไอดอล การหลอกลวงสร้างตัวตนของผู้ไม่หวังดี การโฆษณาเกินจริง รวมถึงข่าวปล่อยเพื่อความสนุกส่วนตัวลักษณะที่เป็น Cyber Bully ฯลฯ
ดังนั้น ทุกครั้งเมื่อได้รับข่าวสารข้อมูล อย่าเพิ่งรีบเชื่อ ควรตั้งคำถาม ตรวจสอบที่มาให้ถี่ถ้วนก่อนแชร์ ซึ่งสามารถหาข้อมูลอ้างอิงความถูกต้องได้มากมายบนอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องรีบส่งต่อเสมอไป เพราะการแสดงตนว่ารู้เร็ว รู้ก่อน หรือ จะแชร์ด้วยความหวังดี อาจทำให้กลายเป็น “ท้าวแชร์ข่าวปลอม” โดยไม่รู้ตัว