“การนั่ง” เป็นอีกหนึ่งอิริยาบถของมนุษย์และถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต นอกจากนี้ ยังเป็นการพักผ่อนร่างกายและจิตใจเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายจากอาการเมื่อยล้าต่างๆ แต่การนั่งเป็นเวลานานๆ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ!
ไม่ว่าจะเวลาทำงาน เวลานั่งเล่น หรือจะเวลาพักผ่อน ยิ่งนั่งนานมากเท่าไร โอกาสที่จะเสียชีวิตก็มีมากขึ้น แม้ว่าจะออกกำลังกายเป็นประจำก็ตาม มีงานวิจัยระบุไว้ว่า การนั่งเป็นเวลาติดกันนานเกินไปส่งผลให้หัวใจและหลอดเลือดแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และสมองหดตัว และแย่กว่านั้นหากเป็นผู้สูงอายุ การนั่งนาน ๆ จะกลายเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะพิการและเกิดภาวะสมองเสื่อม และอาจเกิดภาวะที่เรียกว่า “ร่างกายเปราะบาง”
ภาวะร่างกายเปราะบางคืออะไร? ภาวะเปราะบางไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของร่างกายอยู่ตรงกลางระหว่างความสามารถในการทำงานได้และไม่ได้ อยู่ระหว่างรอยต่อของสุขภาพดีและเป็นโรค เปรียบเสมือนชีวิตอยู่บนเส้นด้าย เป็นปัญหาสุขภาพที่พบกันมากในหมู่ผู้สูงอายุ ส่งผลทางด้านร่างกายและจิตใจ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้ความสามารถในการทำงานของระบบต่าง ๆ จะลดลง ความรุนแรงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะมากขึ้น การทรงตัวย่ำแย่ อาจประสบอุบัติเหตุ อย่างเช่น เสียการทรงตัวและอาจล้มซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากสำหรับผู้สูงอายุ
“ร่างกายเปราะบาง” ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างไรบ้าง?
นักวิจัยทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ Maja Susanto, Ruth Hubbard และ Paul A Gardiner วิเคราะห์ข้อมูลจาก Australian Longitudinal Study of Women’s Health โดยมีผู้หญิงที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2489-2494 เป็นผู้เข้าร่วมทดลอง โดยกลุ่มตัวอย่างรายงานเวลาที่ตนเองใช้นั่งในแต่ละวัน
นักวิจัยประเมินความเปราะบางของผู้หญิงโดยใช้สเกลที่เรียกว่า FRAIL ตั้งแต่ 0 (สุขภาพดี) ถึง 5 (อ่อนแอ) และแบ่งเวลาการนั่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ระดับต่ำ (3.5 ชั่วโมงต่อวัน) ระดับปานกลาง (5.5 ชั่วโมงต่อวัน) และระดับสูง (10 ชั่วโมงต่อวัน) อย่างไรก็ตาม The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ระบุว่า ผู้หญิงควรใช้เวลานั่งให้น้อยลง และหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 2 วัน เพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย และลดภาวะความเปราะบาง
Paul A Gardiner หนึ่งในทีมนักวิจัย อธิบายความหมายของความอ่อนแอไว้ว่า “คนที่อยู่ในภาวะเปราะบางจะมีพลังสำรองที่ใช้สำหรับฟื้นตัวหลังจากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บน้อยลง และยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เข้าไปอาศัยในบ้านพักคนชรา และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” การวิจัยครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะมีอายุยืนกว่าผู้ชาย แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
จากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ผู้หญิงที่ใช้เวลาในการนั่งนานๆ อย่างน้อย 10 ชั่วโมง/วัน หรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะตกอยู่ในภาวะเปราะบาง ขณะที่ผู้หญิงที่ใช้เวลานั่งประมาณ 2 ชั่วโมง/วัน จะมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะเปราะบางน้อยมาก
แล้วควรป้องกันการเกิดภาวะเปราะบางอย่างไร?
1.ออกกำลังกาย ทั้งออกกำลังกายต้านทานและการออกกำลังกายแอโรบิก โดย The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ระบุว่า ผู้หญิงควรใช้เวลานั่งให้น้อยลง และหมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 2 วัน
2.ทานอาหารเสริม โดยเพิ่มระหว่างมื้ออาหาร อาหารเสริมโปรตีนช่วยในการรักษามวลกล้ามเนื้อ รวมถึงการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
3.ประเมินสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน รวมถึงความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดการพลัดหกล้ม เช่น สร้างราวจับในห้องน้ำ ตรวจเช็ค พื้น ผนัง พื้นลาดเอียง อย่าให้ลื่น รวมถึงควรมีสภาพแสงที่เหมาะสมและระบบกดเรียกฉุกเฉิน
รู้แบบนี้แล้ว… ควรใช้ระยะเวลาในการนั่งให้พอดี และหมั่นออกกำลังกายให้พอเหมาะ เพื่อป้องกัน “ภาวะเปราะบาง” ภัยเงียบที่อาจเป็นฉนวนเริ่มแรกของปัญหาสุขภาพในระยะยาว