เมื่อเทคโนโลยีก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ขึ้น การสื่อสารจึงกว้างขวางกว่าที่เคยเป็น สื่อออนไลน์เปรียบเสมือนดาบสองคม เนื่องจาก “วิกฤต Fake News” หรือข่าวปลอม ที่คอยสร้างความสับสนให้ผู้คนจากกลุ่มไม่หวังดี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอมาตราการที่ Facebook ใช้เพื่อป้องกัน Fake News…
จะว่าไป วิกฤต Fake News เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่แพร่กระจายช้า เพราะในสมัยก่อนเป็นเพียงรูปแบบของ “ใบปลิว” ซึ่งไม่ค่อยมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกมากนัก แต่ปัจจุบัน Fake News เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของสื่อออนไลน์ ทำให้มีข้อมูลข่าวสารถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้รับสารมากขึ้น
และยิ่งช่วงนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้น จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่า Fake News จะเข้ามาทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองรวมถึงผู้รับสาร จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการสร้างสถานการณ์ ไม่เพียงแค่ประเด็นการเมืองเท่านั้น ข่าวสารประเภทต่างๆ ก็ยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวลวงผ่านสื่อออนไลน์อีกด้วย อาทิ ศิลปิน/ ดาราชื่อดังเสียชีวิต เป็นต้น
จากวิกฤติดังกล่าว ทำให้ “เฟซบุ๊ก” หนึ่งในแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดถึง 52 ล้านคน ออกประกาศมาตรการรับมือ Fake News ในช่วงของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น โดยไม่อนุญาตให้โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งจากต่างประเทศมาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังคุมเข้มเรื่องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้คน ทั้งนี้เพื่อสร้างความโปร่งใสในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง
สำหรับมาตรการที่ Facebook จะบังคับใช้ เพื่อรับมือ Fake News ได้แก่
1. Cracking Down on Fake Accounts – ปราบปรามบัญชีปลอม
เฟซบุ๊กจะใช้ระบบอัตโนมัติตรวจจับข้อมูลเพื่อค้นหาบัญชีปลอม จากนั้นจึงนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยระบุตัวตน สามารถตรวจจับบัญชีปลอมก่อนจะมีการรายงานเข้ามาได้มากถึง 99.6% และส่งข้อมูลที่ตรวจพบให้กับทีมงานที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยตรวจจับและสแกนในขั้นตอนสุดท้าย เนื่องจากรูปแบบและวิธีการของผู้ที่ไม่ประสงค์ดีในการสร้างบัญชีปลอมมีการพัฒนาและก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา
2. Reducing The Distribution of False News – ลดการกระจายข่าวปลอม
เฟซบุ๊กจะเพิ่มมาตรการจัดการ การแพร่กระจายข่าวปลอม โดยนำหลัก “ลบ-ลด-แจ้ง” มาใช้สำหรับจัดการกับข่าวปลอมหรือคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม
3. Making Advertising More Transparent – ทำให้การโฆษณามีความโปร่งใสมากขึ้น
เฟซบุ๊กเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลของเพจได้แล้วผ่านแถบ “Info and Ads” ในหน้าเพจนั้นๆ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดตั้งแต่จำนวนครั้งที่เปลี่ยนชื่อเพจ เริ่มสร้างเพจวันไหน มีต้นทางการใช้งานมาจากประเทศใด เพื่อตรวจสอบว่าเพจนั้นๆ นำเสนอประเด็นไหน อาศัยอยู่ในประเทศใด เพื่อเชื่อมโยงกับเจตนาในการทำคอนเทนต์ และยังสามารถเลือกดูได้ด้วยว่าคอนเทนต์ที่ถูกซื้อโฆษณาถูกสนับสนุนโดยใครอีกด้วย
4. Disrupting Bad Actors – กำจัดการเผยแพร่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เฟซบุ๊กมีมาตรการยับยั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว
5. Supporting an Informed Electorate – สนับสนุนการเลือกตั้งด้วยข้อมูลข่าวสาร
เฟซบุ๊กจะสนับสนุนการให้ข้อมูลช่วงเลือกตั้ง โดยทำงานร่วมกันกับองค์กรอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับข่าวปลอม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ก่อนจะกดแชร์หรือส่งต่อ รวมถึงแสดงความคิดเห็น
เฟซบุ๊กจะดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกับทาง กกต. ของประเทศนั้นๆ รวมถึงประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานในการเสพข่าวสารที่ถูกต้อง โปร่งใส รวมถึงแสดงความคิดเห็น เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ เพื่อลดปัญหาการเกิดวิกฤต Fake News ต่อไป
นี่คือวิถี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต