ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยช่วงนี้อยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอย่างน่าเป็นห่วง โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมิน 6 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น ปรับลดคาดการณ์ GDP 2562 เหลือ 3.8% เชื่อดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้งปีนี้ วันนี้ กินอยู่เป็น พามาส่องเศรษฐกิจกันว่าปีหมูนี้ จะหมู่หรือจ่า!
เข้าสู่ปี 2562 ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นที่ต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างน่าเป็นห่วง ด้วยปัจจัยต่าง ๆ นา ๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ประเทศไทยอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต และในปี 2562 ปีหมูปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เรื่องนี้ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลดลงเหลือ 3.8% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ที่ 4% และเป็นการเติบโตที่ชะลอลงจากปี 2561 ที่ประมาณ 4.2% เนื่องจากการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าชัดเจนขึ้น และการท่องเที่ยวไทยชะลอตัว
โดย ดร. ยรรยง กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และตอนนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น (late expansion cycle) แต่ยังถือว่าเติบโตดีกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 2.8% ขณะที่วัฏจักรการเงิน (financial cycle) ของไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเช่นกัน ทำให้ภาวะการเงินจะทยอยตึงตัวขึ้น”
ทั้งนี้ EIC ประเมินว่า การส่งออกไทยปี 2562 จะเติบโตเพียง 3.4% จากที่เติบโต 7% เมื่อปี 2561 ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากสงคราม
การค้าแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจากปี 2561 ทำให้สินค้าบางประเภทที่อิงกับราคาน้ำมัน เช่น สินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ ปรับลดลงด้วย
สำหรับการท่องเที่ยว ดร.ยรรยง เปิดเผยว่า แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโต 4.5% ในเดือน พ.ย.2561 แต่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีสัดส่วน 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดยังติดลบ 14.16% แต่เชื่อว่า นักท่องเที่ยวจีนจะทยอยเพิ่มขึ้นและกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 2 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรวมในปี 2561 อยู่ที่ 40.2 ล้านคน เติบโตขึ้น 5.7% จากปี 2561 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโต แต่ยังกระจุกตัว โดยรายได้ภาคเกษตรคาดว่าจะทรงตัว แต่มีความเสี่ยงปรากฏการณ์ EI Nino ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้ง และปริมาณผลผลิตลดลง รวมทั้งหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
ดร.ยรรยง กล่าวว่า “การลงทุนในประเทศ จะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตมายังไทยของธุรกิจต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า”
พร้อมกันนี้ ดร.ยรรยง ระบุว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะมีความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและในประเทศ โดยเป็น 3 ปัจจัยท้าทายจากปัจจัยภายนอก และ 3 ปัจจัยท้าทายภายในประเทศ ได้แก่
3 ปัจจัยท้าทายจากปัจจัยภายนอก
1. สงครามการค้า : ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลลบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าที่คาด
2. ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น : ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ทยอยสูงขึ้น ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิที่เข้ามาในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น
3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการเมืองในภูมิภาคสำคัญ : เช่น Brexit สถานการณ์ในอิตาลี และการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
3 ปัจจัยท้าทายภายในประเทศ
1. แนวโน้มการใช้จ่ายที่กระจุกตัว : จากภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาในการปรับตัวของแรงงานและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
2. ภาวะการเงินในประเทศที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น : ทั้งจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และจากมาตรการ macroprudential ที่เข้ามากำกับดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3. ความไม่แน่นอนของกระบวนการและผลของการเลือกตั้ง : ที่จะมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ตลอดจนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ดร.ยรรยง คาดการณ์ว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะฉะนั้นอย่างเร็วที่สุด คือ ไตรมาส 2 แต่จะมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นในครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก เพราะยังไม่มีเงื่อนไขที่จะทำให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว นอกจากนี้ ยังประเมินว่า ธปท. อาจออกมาตรการ Macroprudential เพิ่มเติมเพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ในจุดที่มีความเปราะบาง ควบคู่ไปกับการนโยบายดอกเบี้ย”
อย่างไรก็ตาม ดร.ยรรยง ในตอนท้ายว่า “ในระยะสั้นหนี้ครัวเรือน ซึ่งรวมถึงหนี้ SME น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะยังมี NPL เพิ่มขึ้น และหนี้เร่งตัวมากกว่ารายได้ ดังนั้น หาก ธปท. ยังเป็นกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน ก็อาจจะมีมาตรการ Macroprudential ออกมาอีก”
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.hoonsmart.com