กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปทำความรู้จักกับชื่อของ “พายุปาบึก” พายุที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้ และชื่อ “พายุปาบึก” ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นคนริเริ่มตั้งชื่อนี้ขึ้นมา?
เวลานี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้สึกวิตกกังวลกับข่าวที่ “พายุปาบึก” กำลังจะพัดเข้าพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงระหว่าง 3-5 มกราคมนี้ ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนถึง “พายุปาบึก” ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ในโลกของโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่า “พายุปาบึก” ลูกนี้มีความรุนแรงอย่างมาก มีฤทธิ์ทำลายล้างเทียบเท่ากับพายุโซนร้อนแฮเรียต ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อปี 2505 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก
นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก “พายุปาบึก” ที่มีการบอกเล่ากันในสมัยก่อน แต่สงสัยกันหรือไม่ว่า “ปาบึก” ที่เรียก ๆ กันอยู่นั้นเป็นชื่อของพายุหรือชื่อของปลาชนิดหนึ่งกันแน่ แล้วชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ วันนี้เรามาไขคำตอบเรื่องนี้กันดีกว่า
สำหรับ “ปาบึก” (Pabuk) เป็นชื่อของพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 2 ที่มาจากการเสนอชื่อโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งชื่อ “ปาบึก” นั้น ก็มีที่มาจาก “ปลาบึก” ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อยู่ในแม่น้ำโขง เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้
แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ชื่อของพายุที่เรามักได้ยินมาจากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งชื่อที่เป็นภาษาไทยและชื่อที่เป็นภาษาต่างประเทศนั้น ทำไมถึงต้องมีชื่อเรียกของพายุ แล้วมีหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อพายุอย่างไรบ้าง จริง ๆ แล้ว ในช่วงสมัยปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 มีนักพยากรณ์อากาศชาวออสเตรเลีย “คลีเมนต์ แรกกี” มีแนวคิดในการตั้งชื่อพายุ โดยเริ่มแรกจะใช้เป็นชื่อของบุคคลทั่วไป มี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ใช้ชื่อสตรี เพื่อให้ดูอ่อนโยน และแบบที่ 2 ชื่อนักการเมือง เพื่อเปรียบเปรยว่า นักการเมืองคือผู้นำความหายนะมาให้
ต่อมา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯ ได้ไอเดียในการเริ่มนำชื่อภรรยาหรือคู่รักมาตั้งเป็นชื่อพายุ จากนั้น พ.ศ. 2493 เริ่มตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนเป็นชื่อของผู้หญิงสลับผู้ชาย โดยไล่ตามตัวอักษร A-Z
ในปี พ.ศ. 2543 การตั้งชื่อพายุเริ่มแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ จึงทำให้ในช่วงนั้นประเทศต่าง ๆ เริ่มเข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เพื่อจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแถบนี้ใหม่ โดยมี 14 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา , จีน , เกาหลีเหนือ , เกาหลีใต้ , ฮ่องกง , ญี่ปุ่น , ลาว , มาเก๊า , มาเลเซีย , ไมโครนีเซีย , ฟิลิปปินส์ , ประเทศไทย , สหรัฐอเมริกา และ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้
โดยให้แต่ละประเทศส่งชื่อพายุในภาษาของประเทศนั้น ๆ ประเทศละ 10 ชื่อ ซึ่งเกณฑ์ในการตั้งชื่อพายุลูกนั้น ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุต้องมากกว่า 34 น็อต หรือ 63 กม./ชม. จึงจะสามารถมีชื่อเป็นตัวเองได้ ซึ่งชื่อของพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 28 ชื่อ แต่ละชื่อจะเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยเริ่มจากกัมพูชาไปจนถึงเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 และเมื่อใช้หมด 1 กลุ่ม ก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง
และก่อนหน้านี้ เราเคยได้ยินชื่อของ “พายุมังคุด” กันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วมีชื่อก่อนหน้านี้ด้วย นั่นคือชื่อ “พายุทุเรียน” แต่วสาเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นพายุมังคุดนั้น เนื่องจากเมื่อปี 2549 พายุทุเรียนมีความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน จึงมีการเสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องพายุของ ESCAP/WMO เพื่อขอเปลี่ยนชื่อเพื่อแก้เคล็ด และเปลี่ยนมาเป็น “พายุมังคุด” แทน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พายุปาบึกกำลังเคลื่อนตัวลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 ซึ่งพื้นที่ภาคใต้จะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ ณ ที่นี้ด้วย และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา