ประเทศไทยอยู่ในช่วงระหว่างผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นมา ถือเป็นอีกความหวังของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในไทยที่จะมีกฎหมายรับรองสิทธิ์ชีวิตคู่ ซึ่งหากผ่านร่างฯ ดังกล่าว คู่รักร่วมเพศสามารถใช้สิทธิใช้ชีวิตร่วมกัน-จัดการมรดกได้ แต่สถานภาพยังไม่ใช่ “คู่สมรส”
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของ “ความรัก” ในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นเพศชายกับหญิงเพียงเท่านั้น ตอนนี้สังคมคู่รักหลากหลายทางเพศเป็นที่เปิดกว้างและได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ทั่วโลก ปัจจุบันมีอยู่ 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา, เบลเยียม, บราซิล, แคนาดา, เดนมาร์ก, อังกฤษ, ฝรั่งเศษ, ไอซ์แลนด์, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, แอฟริกาใต้, โปรตุเกส, สเปน, สวีเดน, อุรุกวัย, เวลส์ ,สหรัฐอเมริกา (ทั้ง 50 รัฐ) และเยอรมนี ซึ่งประชาชนในประเทศนั้นๆ สามารถจดทะเบียนสมรสและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันดังเช่นสามี-ภรรยา ได้เลย ยกเว้นประเทศเยอรมนี ที่ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสแบบ Partnership ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่การสมรสแบบสมบูรณ์ แต่การจดทะเบียนสมรสแบบ Partnership ก็มีสิทธิเท่าเทียมกับการสมรสปกติ
ส่วนที่ประเทศไทย แม้จะมีการเปิดกว้างในเรื่องของรักร่วมเพศ แต่ในส่วนของกฎหมายนั้นขณะนี้อยู่ในช่วงผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นมา และรอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและประกาศใช้หากมีความเห็นชอบ หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมได้มีแนวคิดพยายามยกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต มาตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา
โดยความคืบหน้าล่าสุด กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เปิดเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องดังกล่าว โดยประชาชนทั่วไปสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้ทางระบบออนไลน์ และในวันที่ 12-16 พ.ย.นี้ จะเปิดเวทีวิพากษ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดยกรุงเทพมหานครจะเปิดเวทีที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในวันที่ 12 พ.ย. นี้ , ในต่างจังหวัดก็จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่ จ.เชียงใหม่ , จ.พระนครศรีอยุธยา ,อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก่อนจะสรุปเนื้อหาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับล่าสุด จะมีทั้งสิ้น 70 มาตรา ซึ่งกระทรวงยุติธรรมร่วมกับภาคประชาสังคมเแก้ไขปรับปรุง โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังเน้นการแก้ปัญหาให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการสร้างครอบครัว และใช้สิทธิในการอยู่ร่วมกัน รวมถึงทรัพย์สินที่ทั้ง 2 ฝ่ายสร้างมาด้วยกันหลังจากใช้ชีวิตคู่ , การจัดการมรดกหากฝ่ายใดเสียชีวิต , สิทธิที่ควรจะเป็น ในการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ
ทั้งนี้ สำหรับการจดทะเบียนคู่ชีวิตยังคงใช้คำว่า “คู่ชีวิต” เหมือนเดิม เนื่องจากสถานภาพยังไม่ใช่คู่สมรส แต่จากการรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับล่าสุดจะให้สิทธิกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถึง 90%
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้หรือไม่ ซึ่งหาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 20 ของโลก และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ก็ถือเป็นอีกความหวังของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในไทย ที่จะมีกฎหมายรับรองสิทธิ์ชีวิตคู่ และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต