รู้ไหม? ทำไมวัดต้อง “ตีระฆัง”

0
1744
kinyupen

สงสัยกันไหม? ทำไมวัดต้อง “ตีฆ้อง-ตีกลอง-ตีระฆัง” แล้วคนที่มาทำบุญที่ “ตีฆ้อง-ตีกลอง-ตีระฆัง” แล้ว จะเป็นอย่างไร ตีดังๆ แล้วเราจะได้บุญหนักๆ ใช่ไหม? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะพาไปติดตามและไขข้อสงสัยเรื่องนี้

 

คุณเคยเข้าวัดทำบุญตักบาตรกันหรือไม่? ตอนเด็กๆ พ่อแม่ผู้ปกครองมักพาเราไปทำบุญที่วัด แล้วก็ยื่นไม้ให้เราตีฆ้อง ตีระฆัง ซึ่งก่อนตี คุณพ่อคุณแม่ก็จะย้ำกับเราว่า “ตีแรงๆ ให้ดังๆ เลยนะลูก” เราเคยสงสัยกันไหมว่า เอ๊ะ! ฆ้องกับระฆังทำไมต้องตีดังๆ ด้วย ตีแล้วจะเป็นอย่างไร ตีดังๆ แล้วเราจะได้บุญหนักๆ ใช่ไหม? ขณะเดียวกัน สงสัยกันไหมว่า ทำไมวัดแต่ละวัดจึงต้องมีการ “ตีฆ้อง-ตีกลอง-ตีระฆัง” ทุกๆ วัน ตีทำไม? ทำไมถึงต้องตี? ใช้วิธีอื่นได้หรือไม่?

 

ล่าสุด เพิ่งเป็นข่าวไปหมาดๆ กับกรณีที่เกิดขึ้นที่วัดไทร เมื่อมีประชาชนผู้พักอาศัยบนคอนโดซึ่งอยู่ในละแวกใกล้กับวัดไทร ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเสียงระฆังที่ดังจากในวัดไทรตอนช่วงกลางดึก ซึ่งเยงระฆังดังกล่าวเป็นเสียงระฆังที่ปลุกพระภิกษุให้ตื่นขึ้นมาทำวัตรเช้า

 

จนกระทั่งสำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ ส่งหนังสือแจ้งไปทางวัดไทร เพื่อให้ทราบว่ามีประชาชนมาร้องเรียน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเสียงระฆัง ซึ่งทางเจ้าอาวาสเองก็รับทราบเรื่องนี้ และได้มีการกำชับพระลูกวัด ให้ลดระดับการตีระฆังให้เสียงดังน้อยลงกว่าปกติ โดยจะตีระฆังในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน วันละ 2 เวลา ช่วงเช้าเวลา 04:00-04:20 น. และช่วงเย็นเวลา 18:00-18.10 น. เท่านั้น

 

 

เรื่องนี้อาจจะทำให้เราสงสัยในหลายๆ อย่าง ว่าสรุปแล้วเนี่ย ทำไมยังต้อง “ตีฆ้อง-ตีระฆัง” กันอยู่ เป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรือเปล่า? แล้วถ้าจะปลุกพระภิกษุให้ลุกขึ้นมาทำวัตร ทำไมถึงไม่ปลุกเป็นเสียงสัญญาณออดอัตโนมัติ หรืออาจจะตั้งนาฬิกาปลุกในมือถือ หรือจะโทรศัพท์ปลุกกันไปเลยก็ได้ ยิ่งยุคสมัยนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยี แบบนี้พระลูกวัดสามารถทำได้หรือไม่?

 

พระครูสังฆรักษ์ชุมพล โชติธัมโม อายุ 41 ปี เจ้าอาวาสวัดท่าราชไชยศรี  (บ้านดอนบม) บอกว่า “กลอง ฆ้อง ระฆัง” เป็นสิ่งที่เคียงคู่พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน เป็นเครื่องมือแจ้งสัญญาณให้พุทธศาสนิกชนทราบว่า ถึงวันพระแล้วให้พร้อมกันทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ดำรงตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ขณะเดียวกัน เสียงของ “กลอง ฆ้อง ระฆัง” ยังช่วยให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาทำบุญในวัดรู้สึกอิ่มเอม
ใจและอิ่มบุญ

 

ทั้งนี้ ชาวพุทธมีความเชื่อว่า การตีกลอง ฆ้อง ระฆัง จะทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังขจรขจายไปไกล ดั่งเช่นเสียงกลอง ฆ้อง ระฆัง ที่พุทธศาสนิกชนตีกันระหว่างทำบุญที่วัด ส่วนที่ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องตีแรงๆ หนักๆ เพื่อที่เสียงจะได้ดังกังวาล อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิด การตีกลอง ฆ้อง ระฆัง ไม่จำเป็นต้องตีหนักๆ ขนาดนั้น เอาแค่พอดีๆ ก็เพียงพอ เพราะเดี๋ยวกลอง ฆ้อง ระฆัง หรือไม้ที่ตีนั้นจะชำรุดและพังได้

 

ส่วนการตีฆ้อง ระฆัง ของพระภิกษุในช่วงเช้ามืดนั้น ต้องอธิบายให้ฟังว่า ในสมัยก่อนบ้านเมืองของเรายังไม่เจริญ ยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาในช่วงนั้น นาฬิกาในสมัยนั้นจึงมีเฉพาะตามวัดวารามเท่านั้น ฉะนั้น พระภิกษุท่านจะใช้การตีกลอง ฆ้อง ระฆัง เพื่อเป็นสัญญาณแจ้งให้ชาวบ้านในละแวกนั้นทราบว่า ณ ขณะนั้นเป็นเวลากี่โมง กี่ยาม เป็นระยะๆ ไป เพื่อบอกเวลาให้ชาวบ้านได้รับรู้

 

โดยปกติ การตีระฆังพระภิกษุจะกระทำในช่วงเช้ามืดของทุกวัน เวลาประมาณ 04:00-04:30 น. โดยจะตี 3 ลา และจะตีนานถึง 30 นาที เพื่อปลุกพระภิกษุให้ตื่นจากการจำวัด และลงไปรวมตัวทำวัตร สวดมนต์ช่วงเช้ามืด นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาเตรียมอาหารใส่บาตรอีกด้วย

 

นอกจากนี้้ การตีระฆังจะมีการตีอีก 2 ช่วงเวลา นั่นคือ เวลาประมาณ 08:00 น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระภิกษุลงมารวมตัวทำวัตรเช้า และตีระฆังอีกครั้งหนึ่งเวลาประมาณ 16:00 น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงประชุมทำวัตรเย็น โดยจะตี 3 ลา ใช้เวลาตีไม่เกิน 10-15 นาที ซึ่งสาเหตุที่ใช้เวลาตีนานต่างกัน เนื่องจากตอนเช้ามืดพระภิกษุท่านยังมีอาการง่วง อ่อนเพลีย ก็อาจจะยังนอนเพลินไป เกรงว่าจะไม่ได้ลุกขึ้นทำวัตรช่วงเช้ามืด

 

นอกจากเสียงระฆังแล้ว จะมีเสียงกลองเพล ซึ่งจะตีในช่วงเวลาประมาณ 11:00 น. โดยใช้ไม้เดียว 3 ลา จากช้าไปเร็วสุด จบด้วยการตี 3 ครั้ง เพื่อบอกเวลาฉันเพลของพระภิกษุ

 

 

ขณะเดียวกัน การตีกลองและระฆังยังจะมีอีก 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 จะตีเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในวัด เช่น ไฟไหม้ โจรปล้น พระภิกษุมรณภาพ หรือต้องอาบัติหนักถึงขั้นปาราชิก

 

ทั้งนี้ จังหวะการตีกลอง ระฆังไม่เป็นจังหวะเหมือนย่ำค่ำ จะเป็นการตีรัวทั้งกลองและระฆัง เมื่อชาวบ้านได้ยินก็จะรีบออกไปที่วัดทันที และ กรณีที่ 2. จะตีเมื่อเกิดจันทรคราสและสุริยคราส ก็จะตีกลองระฆัง

แต่ใช้การตีแบบจังหวะย่ำหรือลีลาย่ำค่ำ จนกว่าจันทรคราสและสุริยคราสจะคลาย อันนี้ต้องใช้พระเณรหลายรูป ส่วนใหญ่ก็จะตีกันจนมือพอง ส่วนชาวบ้านก็จะตีปี๊บ ตีเกราะ เคาะไม้ เพื่อให้พระราหูคลายจากการอมพระอาทิตย์ พระจันทร์ และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen