“ออฟฟิศซินโดรม” ภัยร้าย! อันตรายถึงตาย

0
1430
kinyupen

“ออฟฟิศซินโดรม” โรคสุดฮิตของมนุษย์เงินเดือน เมื่อต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ หากทำเป็นประจำบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย อันตรายถึงตายได้

มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายเมื่อต้องสวมบทบาทเป็นพนักงานออฟฟิศ ซึ่งวัน ๆ ก็จะใช้ชีวิตอยู่บนโต๊ะทำงาน ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมง เรียกได้ว่าใช้ชีวิตผูกติดอยู่กับโต๊ะทำงานตลอดทั้งวันเลยก็ว่าได้  ส่งผลทำให้ร่างกายไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายเลย แต่จะรู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมดังกล่าวหากทำเป็นประจำบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย ส่งผลเสียต่อร่ายกายเราอย่างแน่นอน ทั้งร่างกายมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว สายตาพร่ามัว มีอากาศปวดศีรษาะ ไมเกรน มีอาการชาตามมือ เกิดอาการนิ้วล้อค กล้ามเนื้ออักเสบ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” นั่นเอง

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นอาการที่เกิดจากการทำงานกล้ามเนื้อไม่เหมาะสมในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง และอาจส่งผลให้ร่างกายส่วนอื่น ๆ มีความผิดปกติร่วมด้วย

เรื่องนี้ ศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ แพทย์หัวหน้าสถาบัน และแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ สถาบันกระดูกและข้อ ให้ข้อมูลถึงภาวะออฟฟิศซินโดรมว่า เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เมื่อรักษาแล้วต้องปรับพฤติกรรมชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นซ้ำหรือเป็นภาวะปวดเรื้อรัง โดยคนที่ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม จะมีอาการ 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 : เป็นระยะเริ่มต้น จะแสดงอาการเล็กน้อย ๆ เช่น อาการปวดบ่า ปวดคอ ปวดหลัง ฯลฯ จนคนมองข้ามไป

ระยะที่ 2 : จะมีอาการปวดจนแทบขยับร่างกายแทบไม่ได้ ถือเป็นสัญญาณเตือนของอาการกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ยกแขนไม่ขึ้น เนื่องจากมีพังผืดเกาะที่บริเวณสะบักและหัวไหล และบางรายอาจมีอาการชาไปที่บริเวณมืและนิ้วด้วย

ระยะที่ 3 : ระยะหนักหน่วง ระยะนี้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการปรับพฤติกรรมหรือรักษา อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

 

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งหากใครยังไม่มีอาการเจ็บปวดมาก สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา ฉีดยา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกายภาพบำบัด ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและท่าทางอิริยาบถในขณะทำงาน เพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการเคลื่อนไหวบ้าง หากมีอาการเรื้อรังควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

สำหรับอาการที่ไม่หนักมากจนต้องพบแพทย์ สามารถบำบัดได้ด้วยตนเอง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใกล้ตัว เพียงแค่การลดพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอน พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ หากอยู่ในออฟฟิศควรลุกยืดเส้นยืดสาย เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น ที่สำคัญ พยายามไปหาเวลาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที -1 ชั่วโมง เพียงเท่านี้คุณก็สามารถหายจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้แล้ว

อย่าลืมว่า สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต อย่าปล่อยปละละเลยมันไป เริ่มต้นหันมาใส่ใจสุขภาพกันตั้งแต่บัดนี้ เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้าดีกว่า

kinyupen