“โรคหัวใจล้มเหลว” คร่าชีวิตประชากรบนโลกใบนี้ไปจำนวนมาก เฉลี่ย 17 ล้านคนจากประชากรทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 หรือเฉลี่ย 6 คน/ชั่วโมง
รู้หรือไม่ว่า “โรคหัวใจล้มเหลว” คร่าชีวิตประชากรบนโลกใบนี้ไปจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่า พบผู้ป่วยประมาณ 17 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตภาวะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคนในปี 2573 ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคหัวใจล้มเหลวที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 และมีผู้เสียชีวิตจากประชากรทั้งโลก 54,530 คน เฉลี่ย 150 คน/วัน หรือเฉลี่ย 6 คน/ชั่วโมง ซึ่งนับว่ามีจำนวนอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมากทุกปี
นพ.นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ แพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า หัวใจนับว่าเป็นอวัยวะที่ทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และทำหน้าที่ส่งเลือดผ่านไปยังหลอดเลือดผ่านไปยังหลอดเลือดอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย รวมไปถึงการเลี้ยงหัวใจ หากหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่งของหัวใจมีความผิดปกติไป หัวใจก็จะทำงานหนักมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาหัวใจวาย หรือที่เรียกกันว่า “หัวใจล้มเหลว” และเสียชีวิตในที่สุด
ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ หรือแม้กระทั่งรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจหยุดทำงาน
สำหรับโรคหัวใจล้มเหลวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยเพื่อที่จะรักษาได้ตรงจุด มิฉะนั้นการรักษาจะเป็นเพียงการบรรเทาอาการเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งสาเหตุแบ่งออกเป็น (1.) สาเหตุจากตัวหัวใจเอง อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ , (2.) สาเหตุอื่นๆ เช่น โลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ หลอดเลือดไปปอดอุดตัน และความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และ (3.) ไม่รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควบคุมอาหาร การซื้อยาแก้ปวดทานเอง การใช้สารเสพติด และดื่มแอลกอฮอล์
โดยอาการของโรคหัวใจมักส่งสัญญาณอันตรายด้วยอาการเหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด และหากมีการนั่งพักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น และเป็นมากขึ้น ถือว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ขณะที่บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเหงื่อออกมากร่วมด้วยก็นับว่าเป็นความเสี่ยงที่สามารถส่งผลให้เกิดเป็นโรคหัวใจได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
แพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการรักษาจะแบ่งเป็นการรักษาด้วยยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านหัวใจเต้นผิดปกติ ยาลดความดันโลหิตสูงที่มีฤทธิ์ชะลอการเสื่อมลงของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาลดความดันที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ หรืออาจจำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ เพื่อทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายและขวาบีบตัวพร้อมกัน หรือในรายที่มีอาการมากๆ อาจจะจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งการรักษาทั้งหมดนี้ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดูแลรักษาสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงอย่าให้หัวใจล้มเหลวกลายเป็นภัยเงียบที่ทำอันตรายชีวิตคุณได้
“โรคหัวใจล้มเหลว” เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย หากคุณไม่ดูแลและใส่ใจเรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บก็จะมาเยือนคุณอย่างแน่นอน และคุณก็อาจจะเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคอันตรายที่มาแบบเฉียบพลันได้อีกด้วย ฉะนั้น ใส่ใจสุขภาพกันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการใช้ชีวิตวันข้างหน้าอย่างสง่างามต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพระรามเก้า