วิกฤตน้ำมันแพงมีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 เราได้เห็นราคาปรับขึ้น-ลง ของน้ำมันบ่อยครั้ง แต่รวมๆ แล้วราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กระทบการขนส่ง กระทบถึงค่าครองชีพ ซึ่งปัญหาน้ำมันแพงไม่ได้เป็นแค่ในไทย แต่เป็นกันทั่วโลก
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะมาตอบคำถามกันว่าแท้จริงแล้ว มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ “น้ำมันแพง” ขึ้นมากๆ ในช่วงนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนอย่างเดียว พร้อมเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยที่ขุดน้ำมันได้เอง แถมเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน น้ำมันถึงแพงได้
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
ความขัดแย้งเรื่อง “ยูเครน” ระหว่างรัสเซีย (ชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก) ฝ่ายหนึ่ง กับบรรดาชาติตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงซัพพลายของตลาดน้ำมันโลกได้ในทันที เช่น จะเกิดอุปสรรคในการขนส่ง อาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดลดลง, หากเกิดการคว่ำบาตร ผู้ซื้อเลิกซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ตลาดน้ำมันโลกก็จะมีน้ำมันน้อยลงไปมากในขณะที่ความต้องการยังเท่าเดิม (หรือมากกว่าเดิม) ราคาน้ำมันจึงปรับเพิ่มขึ้น ง่ายๆ คือของขาดตลาดจึงต้องปรับราคาแพง
โอเปค กำลังการผลิตลดลง
กำลังการผลิตสำรองของชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ “โอเปค” ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยถึงไตรมาส 4 ของปี 2565 กำลังการผลิตสำรองที่ว่านี้ จะลดลงเหลือเพียง 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้การประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 เมื่อเผชิญกับแรงกดดันทั่วโลก กลุ่มโอเปคและพันธมิตรตัดสินใจเพิ่มกำลังผลิตวันละ 400,000 บาร์เรล/วัน จนถึงเดือนเมษายน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะช่วยแก้สถานการณ์ราคาน้ำมันทะยานขึ้นแบบนี้ได้แค่ไหน
โควิด-19 คลี่คลาย
เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น หลายชาติในยุโรปเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแทบจะปกติแล้ว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้น ดังนั้นราคาน้ำมันก็จะสูงขึ้นตามหลักการดีมานด์ – ซัพพลาย ซึ่งแม้โควิด-19 ยังไม่หายไป แต่สายพันธุ์โอมิครอนอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โควิดเป็นเหมือนโรคไข้หวัดทั่วไป (คือแพร่ระบาดง่าย แต่ไม่รุนแรง) ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับความปกติมากที่สุด
สหรัฐฯ กับพายุฤดูหนาว
สภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดทั่วสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากพายุฤดูหนาว ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและไฟฟ้าดับหลายพันครัวเรือน โดยอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องปิดทำการ ในขณะที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้น ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน
นโยบายรัฐแต่ละประเทศ
อีกปัจจัยสำคัญไม่แพ้กับ คือ ราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละประเทศ ที่ขึ้นอยู่กับการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันประเทศนั้นๆ รวมถึงนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน (Net import) อาทิ บรูไน มาเลเซีย มีการตั้งงบประมาณอุดหนุนราคาน้ำมันที่ช่วยให้ประชาชนมีน้ำมันราคาถูก
แต่บางประเทศเช่น อินโดนีเซีย เคยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปค (ปัจจุบันลาออกแล้ว เนื่องจากผลิตน้ำมันได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก) ก็มีการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศมายาวนานซึ่งกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณและเศรษฐกิจมหาศาล ก็ปรับนโยบายลดการอุดหนุนและหันมาเปิดเสรีราคาน้ำมัน
สังเกตได้ว่าราคาน้ำมันของอินโดนีเซียปัจจุบันเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว ไม่ต่างกันมากนั้น
ดังนั้นสำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมัน การอุดหนุนราคาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นอาจใช้ได้ แต่ระยะยาวอาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบให้ถี่ถ้วน
ประเทศไทยขุดน้ำมันได้เอง ส่งออกน้ำมัน แต่ทำไมน้ำมันถึงแพง?
ตอบบนหลักการง่ายๆ ก็นั่นเป็นเพราะเราใช้มากกว่าที่มีอยู่!
ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พบว่าเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ประเทศไทยมีความต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 951,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวัน นั่นจึงทำให้เราต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อนำมากลั่นให้เพียงพอ
ขณะที่น้ำมันดิบประเทศไทยขุดเจาะได้เอง ก็มีคุณภาพและสารประกอบต่างๆ ไม่เหมาะสำหรับเข้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ดังนั้นจึงนำน้ำมันดิบส่วนนี้ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านแทน
น้ำมันไทยไม่ได้ราคาแพงที่สุดในอาเซียน
ราคาน้ำมันไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ราคาอยู่ในระดับกลางๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่านอกจากมาเลเซีย และ บรูไนที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ประเทศอื่นๆ ล้วนมีราคาใกล้เคียงกัน แต่ส่วนที่ทำให้มีความต่างกัน ก็จากที่ได้เรียนในข้างต้นก็คือ “โครงสร้างราคาน้ำมัน” แต่ละประเทศนั่นเอง
นอกจากราคาน้ำมันแล้วที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นแล้ว ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งและสงครามยังทำให้ราคาทองคำน่าจับตามองอีกด้วย สวนทางกับหุ้น และค่าเงินอ่อนที่ค่าลง นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และลงทุนอย่างระมัดระวังนะคะ