รู้ไหม “สายใต้เก่า” แท้จริงในอดีตอยู่ที่ “สามแยกไฟฉาย” ปิ่นเกล้าคือ “สายใต้ใหม่” และ “ตลิ่งชัน (ปัจจุบัน) คือ “สายใต้ใหม่กว่า”

0
2147
kinyupen

สำหรับชาวใต้ที่ต้องอาศัยการเดินทางโดยรถสาธารณะ คงจะคุ้นเคยกับสถานีขนส่งสายใต้เป็นอย่างดี เพราะเป็นจุดรวมรถโดยสารสำคัญสำหรับการเดินทางในเส้นทางสู่จังหวัดในภาคใต้ โดยที่ผ่านมาสถานีขนส่งสายใต้มีการโยกย้ายสถานที่มาแล้วถึง 3 ครั้ง จากสถานที่ดั้งเดิมแต่เริ่มแรกที่สามแยกไฟฉาย ไปยังสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ปิ่นเกล้า และได้มีการย้ายการเดินทางไปยัง สถานีขนส่งสายใต้ ตลิ่งชัน ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

และล่าสุดมีข่าวบริษัทขนส่ง จำกัด เตรียมจะย้ายสถานีขนส่งสายใต้กลับมาอยู่ที่เดิม คือสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า เนื่องจากพื้นที่บริเวณขนส่งสายใต้ ตลิ่งชัน กำลังจะถูกเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายถนนพุทธมณฑลสาย 1 และทางบริษัทขนส่งฯ เองก็กำลังจะพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งบริเวณ ปิ่นเกล้าเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบมิกซ์ยูส (mixed-use) โดยได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี 2562 และทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว แต่ผู้บริหารของ บขส. ก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวโดยระบุว่าเป็นแค่เพียงการศึกษาเท่านั้น

 

วันนี้ “กินอยู่เป็น 360 องศา” จะพาย้อนดูเรื่องราวการย้ายสถานีขนส่งสายใต้ กันอีกครั้ง หลังการโยกย้ายพื้นที่หลายครั้งทำให้หลายคนสับสน โดยเฉพาะการเรียกชื่อสถานีขนส่งแต่ละแห่ง ระหว่าง “สายใต้เก่า” และ “สายใต้ใหม่” ซึ่งปัจจุบันมีความเข้าใจกันแพร่หลายว่า “สถานีขนส่งสายใต้ ถ.ปิ่นเกล้า คือ สายใต้เก่า” และ “สถานีขนส่งสายใต้ ถ.ตลิ่งชัน คือ สายใต้ใหม่” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในอดีต “สายใต้เก่า” ผู้คนเคยนำมาเรียกสถานีขนส่งสายใต้แห่งแรกของไทยที่ตั้งอยู่ที่สามแยกไฟฉายในอดีตนั่นเอง

 

 

รู้จักสถานีขนส่งสายใต้ (สามแยกไฟฉาย) – สายใต้เก่า (ที่แท้จริง)

สถานีขนส่งสายใต้แห่งนี้ นับที่เป็นศูนย์รวมการขนส่งสู่ภาคใต้ แห่งแรก ตั้งอยู่ที่บริเวณ สามแยกไฟฉาย ย่านพรานนก โดยมีการก่อตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้ของบริษัท ขนส่ง จำกัด ขึ้น บริเวณด้านทิศใต้ของทางแยก (ซอยสายใต้เก่าในปัจจุบัน) ทำให้เกิดชุมชนที่พักอาศัยโดยรอบ มีศูนย์การค้า ชุมชนและตลาดอีกหลายแห่งโดยรอบ ได้แก่ ตลาดเก่าสามแยกไฟฉาย วัดยางสุทธาราม วัดรวก ตลาดสดพรานนก ตลาดสดบางขุนศรี และซอยบุปผาสวรรค์ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับ ถนนอิสรภาพและถนนอรุณอมรินทร์ ไปยังตลาดสดพรานนก และพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของฝั่งธนบุรีชั้นใน ได้แก่ท่าน้ำวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช ในเขตบางกอกน้อย และวัดอรุณฯ พระราชวังเดิม ในเขตบางกอกใหญ่

 

 

แยกไฟฉายนับเป็นแยกประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พงศ.2484 โดยมีการต่อขยายถนนพรานนก ซึ่งเป็นถนนลาดยางจากสามแยกปากถนนพรานนกตัดถนนอิสรภาพ (สี่แยกพรานนก) เข้ามาบรรจบกับถนนลูกรังในโครงการทางหลวงสายบางซ่อน-สะพานพระราม 6-บางกอกน้อย (ถนนจรัญสนิทวงศ์ในปัจจุบัน)

 

ชื่อสามแยกไฟฉายเกิดขึ้นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งไทยได้เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นที่ได้ขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ คือพม่าและอินเดีย ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศโดยทิ้งระเบิด เพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่าง ๆ และตัดขาดการคมนาคมของกองทัพญี่ปุ่น สำหรับในกรุงเทพฯ ได้มีการติดตั้งไฟฉายขนาดใหญ่หลายจุด เพื่อค้นหาเป้าหมายให้หน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานภาคพื้นดินสามารถยิงสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ทำการในเวลากลางคืนได้ บริเวณสามแยกไฟฉายนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการติดตั้งไฟฉายขึ้น โดยมีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับจุดยุทธศาสตร์ ได้แก่สถานีรถไฟบางกอกน้อย กรมอู่ทหารเรือ พระบรมมหาราชวัง และพื้นที่พระนครชั้นใน

 

ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามพื้นที่บริเวณนี้ได้ถูกพัฒนามีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น และมีการตั้ง สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) เป็นสถานีขนส่งที่ใช้รับส่งผู้โดยสารจากภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคกลาง เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยสถานีขนส่งสายใต้แห่งนี้ ตั้งอยู่บน ถ.จรัญสนิทวงศ์

 

 

เนื่องจากในสมัยก่อน ทำเลที่ตั้งของสถานีขนส่งแห่งนี้มีความเหมาะสม กล่าวคือ เมื่อลงจากรถโดยสารแล้ว สามารถต่อรถไปยังท่าน้ำพรานนก เพื่อขึ้นเรือข้ามฟากไปยังสนามหลวงได้ทันที ในเวลาต่อมา ชุมชนได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้สถานีขนส่งสายใต้ (ไฟฉาย) จากที่เคยตั้งอยู่ชานเมือง เป็นสถานีขนส่งที่ตั้งอยู่ในเมือง เมื่อมีรถโดยสารขนาดใหญ่เข้ามาที่สถานีขนส่งเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรบน ถ.จรัญสนิทวงศ์ และถนนใกล้เคียงติดขัด ในปี พ.ศ. 2532 จึงได้ย้ายสถานีขนส่งสายใต้ ไปที่สถานีขนส่งกรุงเทพฯ (สายใต้แห่งใหม่)

 

 

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้พัฒนาไปมากมีการก่อสร้างขยายถนนและการขนส่ง ทำให้หลายคนอาจจะลืมไปว่าบริเวณจุดนี้เคยเป็นสถานีขนส่งสายใต้แห่งแรกจาก กรุงเทพฯ สู่พื้นที่ภาคใต้ และเคยถูกเรียกว่า “สายใต้เก่า” มาก่อน

เครดิตภาพจาก rottourthai.com, เพจเฟซบุกส์ ย้อนอดีตวันวาน

kinyupen