ในวันที่มองไปรอบตัวไปก็มีแต่เรื่องน่าหดหู่ ชวนเครียดจากสภาพเศรษฐกิจที่ระส่ำระสาย สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัวลง ข่าวการปลด ลดพนักงานเกิดเป็นระยะ หลายท่านทั้งที่กำลังตกงาน และที่กำลังวิตกว่าจะถึงคิวเมื่อไหร่ ถ้าเกิดขึ้นจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำหลักคิดดีๆ เกี่ยวกับการสร้าง RQ อันเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่จะพาเราก้าวผ่านทุกอุปสรรคเหล่านี้ มาฝากกัน
อาร์คิว (RQ) 1 ใน 3 Q สำคัญที่ควรมี
อาร์คิว (RQ) ย่อมาจาก Resilience Quotient หมายถึง ศักยภาพทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังเผชิญวิกฤติ อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้บุคคลนั้นผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข หรือ ถ้าสรุปง่ายๆ ก็คือ “พลังสุขภาพจิต หรือ ภูมิคุ้มกันทางใจ” ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 เรื่อง คือ อึด-ฮึด-สู้ นั่นเอง
- อึด คือ มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ทนความกดดัน จัดการความเครียด ควบคุมอารมณ์ได้ดี
- ฮึด คือ มีกำลังใจที่ดีทั้งจากตัวเอง และคนรอบข้าง บนความเชื่อที่ว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆ ย่อมผ่านพ้นไปได้
- สู้ คือ ต่อสู้อุปสรรคอย่างชาญฉลาด มีทักษะแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ดี
ที่ผ่านมาผู้คนมักให้ความสำคัญกับเรื่อง ไอคิว (IQ : Intelligence Quotient) หรือ ความฉลาดทางสติปัญญา เป็นสำคัญ เพราะผู้ที่มีไอคิวสูง มักเรียนหนังสือเก่ง ความจำดี แก้โจทย์ยากๆ ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งมักได้รับคำชม หรือ เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งนี่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีใช่มั้ยครับ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับพบว่า คนที่มีไอคิวสูง อาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็ได้
ระยะหลังๆ จึงมีคำว่า อีคิว (EQ : Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้นมา โดยผู้ที่มีอีคิวสูงจะสามารถอดทน อดกลั้น ข่มใจ ได้ดี ใช้ความคิด และเหตุผลในการตัดสินใจมากกว่าใช้อารมณ์ แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุดครับ เวลาที่เกิดวิกฤตหรือปัญหาในชีวิต คนที่แม้จะมีทั้งไอคิว และ อีคิว บางคน ก็ไม่สามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้ จึงต้องมี อาร์คิว (RQ : Resilience Quotient) เพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง
ถ้าให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า 3 Q นี้มีหน้าที่ต่างกันอย่างไรสามารถสรุปได้ดังนี้
- ไอคิว (IQ : Intelligence Quotient) จะช่วยให้เรียนรู้ และคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
- อีคิว (EQ : Emotional Quotient) จะช่วยให้ปรับตัว อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
- อาร์คิว (RQ : Resilience Quotient) จะช่วยให้อึด ฮึด สู้ เพื่อเอาชนะอุปสรรคได้อย่างแข็งแกร่ง
อาร์คิว (RQ) 3 ระดับ คุณอยู่ระดับไหน สร้างเพิ่มได้อย่างไร
กรมสุขภาพจิต บอกว่า ระดับอาร์คิว (RQ) ของคนเรานั้นมี 3 แบบ
แบบที่ 1 มีประมาณ 20% เป็นพวกยอมจำนนต่อโชคชะตา มีลักษณะท้อแท้ สิ้นหวัง และ ไม่มีความสุข
แบบที่ 2 มีประมาณ 60 % เป็นกลุ่มที่อดทน ใจสู้ พร้อมจะสู้กับวิกฤต แต่ไม่มีทักษะในการปรับตัวหรือรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นเท่าไหร่นัก
แบบที่ 3 มีประมาณ 20 % กลุ่มนี้ มีความเข้มแข็งทางจิตใจสูง ปรับตัวได้ดี มีวิธีหาทางออก และพยายามเอาชนะกับอุปสรรค สำคัญที่สุด คือ มีความหวังกับอนาคต
แล้วคุณล่ะถามตัวเองดูหรือยังว่าระดับอาร์คิว (RQ) อยู่ในกลุ่มไหน ถ้าแค่มีใจสู้แต่ยังปรับตัวไม่ได้ดีก็ต้องอึด ฮึดกันอีกหน่อย และถ้าอยากสร้างเพิ่มก็สามารถทำได้ด้วยเทคนิคสำคัญคือ “4 ปรับ 3 เติมเพิ่ม RQ”
4 ปรับ คือ “ปรับอารมณ์ – ปรับความคิด – ปรับการกระทำ – ปรับเป้าหมาย” ด้วยการพยายามตั้งสติ ผ่อนคลายความเครียดและหันมามองมุมบวกมากขึ้น เพื่อปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วน 3 เติม คือ “เติมศรัทธา – เติมมิตร – เติมจิตใจให้กว้าง”
ทุกอย่างโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ มีดีมีแย่ มีดำมีขาว หลังฝนซาฟ้าก็ใส ดังนั้นในทุกวิกฤตของชีวิตย่อมพลิกเป็นโอกาสได้เสมอ ขอเพียงมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่แข็งแรง พร้อมยิ้มสู้ทุกอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาก็จะสามารถผ่านพ้นทุกอุปสรรคไปได้ด้วยดี…เพราะโลกใบนี้ เขามีไว้ให้เหยียบไม่ใช่แบก
ที่มา : สารคดีวิทยุชุดวัคซีนใจสู้ภัยโควิด-19 โดยกรมสุขภาพจิต