“หน้ากากผ้าไทย” ของดี 4 ภาคจากฝีมือชุมชน

0
677
kinyupen

เมื่อหน้ากากอนามัยกลายเป็นปัจจัยที่ 5 จำเป็นต้องสวมใส่ตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้านเพื่อป้องกันโควิด-19จะให้ใส่หน้ากากแบบเดิมๆ มันก็จะดูน่าเบื่อเกินไป หลายชุมชนท้องถิ่นหัวใสนำผ้าไทยท้องถิ่นมาผลิตหน้ากากผ้า Handmade ที่สวยงามมีเอกลักษณ์ น่าสะสม ช่วยสร้างรายได้เข้าชุมชน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอรวบรวมตัวอย่างหน้ากากผ้าไทยของดีทั้ง 4 ภาคมาฝากกัน

หน้ากากผ้าลายบ่อสวก น่าน

ผ้าลายบ่อสวก คือ ผ้าทอมือโบราณที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านซาวหลวง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลายประดับปากไหเครื่องเคลือบโบราณ อายุ 800 ปีที่ขุดค้นพบในบริเวณตำบลบ่อสวกและตำบลนาซาวลาย และวันนี้กลุ่มชุมชนร่วมตัวกันนำผ้าที่ทอกันเกือบทุกบ้าน มาผลิตเป็นหน้ากากอนามัยจากผ้าฝ้ายเนื้อดี เพื่อใช้ป้องกันตัวเองและจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน

 

ภาพประกอบ : เฟสบุ๊ค น่าน เน้อเจ้า

 

หน้ากากผ้าย้อมสีธรรมชาติ บุรีรัมย์ และ ชัยภูมิ

ผ้าภูอัคนี หรือ ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ ชุมชนหมู่บ้านเจริญสุขที่ตั้งอยู่ใกล้ “เขาพระอังคาร” 1 ใน 6 ภูเขาไฟเก่าแก่ของบุรีรัมย์ เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำ “ดินภูเขาไฟ” ในหมู่บ้านมาใช้ผสมผสานในการย้อมสีผ้าฝ้าย หรือ ผ้าไหม จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อ ก่อนถูกนำมาตัดเย็บอย่างประณีตเป็นหน้ากากผ้าที่มีสีและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ชุมชนหนองบัวแดง ชัยภูมิ ที่มีฝีมือโดดเด่นเรื่องการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีจากประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ สีสันสวยงาม ออกแบบ และตัดเย็บร่วมกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบ             ไร้สารเคมีของชุมชนเอง เมื่อนำมาทำหน้ากากอนามัยก็ปลอดภัยต่อผู้ที่สวมใส่ ไม่ระคายเคืองผิวหนัง

 

ภาพประกอบ : เฟสบุ๊ค ผ้าไหม  ผ้าภูอัคนี บ้านเจริญสุข และ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

 

 

หน้ากากผ้าขาวม้าไทย พระนครศรีอยุธยา

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าขาวม้าผ้าไทยแปรรูป ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแนวคิดนำผ้าขาวม้า หนึ่งในผ้าพื้นถิ่นของคนไทยมาทำหน้ากากอนามัย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยใช้ผ้าขาวม้าที่ผลิตจากผ้าผ้าคอตตอน นุ่ม สบายใส่แล้วไม่ระคายผิว เสริมความหนา และช่องใส่แผนกรอง สวยงามและปลอดภัย

 

ภาพประกอบ : เฟสบุ๊ค ไทยสาคร OTOP ผ้าขาวม้าผ้าไทยแปรรูป

 

หน้ากากผ้าปาเต๊ะ ตรัง

กลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์บ้านสามแยก อ.ปะเหลียน จังหวัดตรัง ร่วมกับกลุ่มศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่ม อสม. และ กลุ่ม ทสม. นำ “ผ้าปาเต๊ะ” หรือ บาติก ผ้าพื้นเมืองที่มีจุดเด่นด้านความสวยงาม ซึ่งเกิดจากการพิมพ์หรือเขียนลวดลายสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ลงบนผืนผ้า มาดัดแปลงตัดเย็บเป็นหน้ากากอนามัยสำหรับแจกจ่ายให้กับผู้สูงอายุในชุมชนที่ต้องอยู่กับบ้านดูแลตัวเอง ถือเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของคนภายในชุมชนสู่ความยั่งยืน

นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของดีประจำท้องถิ่น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชน ทั้งเป็นการแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจเพื่อที่จะก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันของทุกภาคส่วน

 

ภาพประกอบ : เฟสบุ๊ค กลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์บ้านสามแยก

 

kinyupen