4 พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หลังวิกฤตโควิด-19

0
629
kinyupen

“เมื่อไหร่โควิดจะจบสักที ต้องทนอยู่แบบนี้อีกนานเท่าใด” คงเป็นคำถามคาใจของหลายท่าน ที่เผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ลากยาวมาจนตอนนี้ กินอยู่เป็น 360 แห่งการใช้ชีวิต เชื่อว่าวิถีชีวิตจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลายพฤติกรรมอาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

1.ตื่นตัว ใส่ใจ “สุขอนามัยพื้นฐาน”

เดิมเรื่องสุขอนามัยพื้นฐาน อาทิ การปิดปากเมื่อไอจาม การรักษาความสะอาดร่างกาย รวมถึงการห้ามล้วงแคะ แกะ เกา ขยี้ตา หยิบจับสิ่งของ หรือ อาหารต่างๆ ด้วยมือที่ไม่สะอาด การทานอาหารปรุงสุกสะอาด ล้วนมีอยู่ในตำราเรียนอยู่แล้ว แต่หลายคนมักมองข้าม ไม่ตระหนักจริงจัง มักมีวลีที่ติดปากว่า “เชื้อโรคเกาะไม่ทัน”

แต่จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ ผู้คนระมัดระวังในการดำเนินกิจวัตรประจำวันมากขึ้น อาทิ ล้างมือก่อนและหลัง ทานอาหาร ขึ้นลงรถโดยสาร เข้าห้องน้ำ ตลอดจนการหยิบจับสิ่งของ ธนบัตร  ตลอดจนหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับโลหะ ราวบันได ที่จับบนรถสาธารณะและปุ่มลิฟท์ที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค รวมถึงปิดป้องเมื่อไอจามในที่สาธารณะกันมากขึ้น

 

2. “หน้ากากอนามัย – เจลล้างมือ” ของคู่กายต่อจากสมาร์ทโฟน

ก่อนหน้านี้ สมาร์ทโฟน เปรียบได้ดั่งอวัยวะชิ้นที่ 33 ของมนุษย์ แต่จากนี้ไป “หน้ากากอนามัย – เจลล้างมือ” จะเข้ามามีบทบาทและกลายมาเป็นของที่ต้องมีของทุกคนไม่แพ้กัน

เพราะปัจจุบันผู้คนตระหนักถึงความสำคัญการสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ข้างนอกและในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านตลอด รวมถึงหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ ในแทบทุกการสัมผัส ซึ่งเมื่อก่อนการทำสิ่งเหล่านี้อาจถูกมองว่าแปลก แต่จากนี้ไปความเชื่อดังกล่าวได้ถูกทลายไปหมดเรียบร้อยแล้ว และ “หน้ากากอนามัย – เจลล้างมือ” กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพกติดตัวไปตลอดทุกที่

 

3.รู้จำ ย้ำคิด ใช้ชีวิต “Social Distancing”

Social Distancing เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนรอบตัว ด้วยการสร้างระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร โดยสาธารณสุขเชื่อว่าหากผู้คน 80% ในสังคมให้ร่วมมือกัน ถึงจะสามารถเปลี่ยนชะงักเส้นทางการแพร่เชื้อลดลงไปได้ ข้อดีของ Social Distancing ก็คือ ช่วยลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อผ่านละอองขนาดเล็กที่มาจากการไอหรือจามได้ จากตัวเราไปให้ผู้อื่น และ ลดโอกาสการรับเชื้อจากผู้อื่นมาสู่เราอีกทางเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันสังคมตอบรับและให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น

 

ดังจะเห็นได้จากการประชุม งานบุญ งานศพที่มีการจัดเก้าอี้ หรือ สถานที่ที่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่เว้นแม้แต่รถเมล์ รถโดยสารที่มีการกำหนดเว้นพื้นที่นั่ง ที่ยืนเพื่อลดการเบียดเสียด หรือ การกำหนดจุดรอคิวในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ขณะที่การทานอาหาร หรือ สังสรรค์ร่วมกับเพื่อน หรือ ครอบครัว ก็มีการเว้นพื้นที่มากขึ้น รวมถึงแยกอุปกรณ์จาน ชาม แก้วน้ำส่วนตัวชัดเจน และหลายบริษัทก็เปิดทางเลือกในการ work From Home เพื่อเว้นระยะห่างกันมากขึ้น

 

ล่าสุดการทำบุญช่วงสงกรานต์ก็รณรงค์ในเรื่องการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด โดย การทำแม้แรกจะค่อนข้างขัดกับพฤติกรรมคนไทย แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งผู้คนเริ่มคุ้นชิน และเห็นผลดีด้านสุขอนามัยและระเบียบวินัยชัดมากขึ้น และแม้ในอนาคตโรคระบาดจะคลี่คลายไป แต่การที่ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับมาตรการสาธารณสุขที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดเช่น ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การรักษาความสะอาด การใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องคำนึงถึงระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ทำให้เชื่อได้ว่าวิถีชีวิตเช่นนี้ยังจะอยู่คู่กับเราต่อไปอีกนาน

 

4.“วางแผนชีวิต” ต้องคิดใหม่

“ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” เหล่าผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี มนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ และคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป เพราะหลายคนตกงานไม่ทันตั้งตัว หลายคนถูกพักงานลดเงินเดือน รวมถึงศิลปิน ฟรีแลนซ์ แม้กระทั่ง Influencer online และ Youtuber ที่เคยบูมมากก็ถูก Cancel งานยาวแบบไม่มีกำหนด

 

คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าไวรัสตัวเล็กๆ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ปากท้องคนทั้งประเทศมากขนาดนี้ โดยกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักฟันธงกันแล้วว่าครั้งนี้หนักหนากว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 มาก ขณะที่ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้าง ประเมินตัวเลขคนตกงาน ว่าอาจสูงถึง 6.5 ล้านคน

 

บทเรียนครั้งนี้ คาดจะส่งผลให้หลายคนที่มีไลฟ์สไตล์ใช้เงินซื้อความสุขความสบาย เช็คอินกิน ดื่ม เที่ยว ช็อปปิ้งแบบไม่ยั้ง อาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปโดยแบบสิ้นเชิง  โดยจะหันกลับมาใส่ใจ “ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เน้นการประหยัดอดออม” มากขึ้น ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นลง การผ่อนสินค้า การสร้างหนี้ระยะยาวที่ต้องนำเงินในอนาคตมาใช้จะถูกคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ยังคงมีงานทำอยู่เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเสี่ยงถูกหางเลขจากวิกฤตเมื่อใด

 

“การออมเงินเพื่ออนาคตกลายเป็นสิ่งจำเป็น” อย่างน้อยๆ ถ้ามีสถานการณ์ฉุกเฉิน การระบาดยืดเยื้อ เศรษฐกิจทรุดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นอีกก็ยังพอมีสำรอง ส่วนผู้ที่เคยพึ่งพาอยู่กับระบบธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ก็จะกลับมาสำรวจหันมาพึ่งพาตนเองกันมากขึ้น “เริ่มมองหาอาชีพสำรอง หรือ สร้างแหล่งรายได้เพิ่ม” เพราะอย่างน้อยก็ยังทำให้ชีวิตมีแพลน A แพลน B อาจเริ่มจากการนำงานอดิเรก หรือ สิ่งที่ถนัดเข้ามาประยุกต์

 

ขณะเดียวกัน หลายครอบครัวที่เคยตั้งความหวังว่าเข้ามาขายแรงงานแสวงหาโอกาสสร้างตัวในเมืองใหญ่ จากวิกฤตนี้ก็อาจทำให้ต้องหันกลับมามองหาทรัพยากร มองความเป็นอยู่ที่พอเพียงในบ้านเกิดกันมากขึ้นเช่นกัน

 

นับจากนี้ ไม่ว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่จากนี้วิถีชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป #เราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

kinyupen