แจ้งเหตุกว่า 1 ล้านสาย หลอกเงินได้เกือบ 2 หมื่นล้าน

0
83
kinyupen

คนไทยตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์พุ่งสูง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ เอโอซี 1441 ครบ 1 ปี มีสถิติการแจ้งเหตุและการโทรฯ เข้า ทั้งหมด 1,176,512 สาย ระงับบัญชีที่ต้องสงสัยอยู่ที่ 348,006 เคส

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ เอโอซี 1441 ได้ดำเนินงานมาครบ 1 ปี ผลการปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 พ.ย. 66.-31 ต.ค. 67 มีสถิติการแจ้งเหตุและการโทรฯ เข้า ทั้งหมด 1,176,512 สาย และจำนวนการระงับบัญชีที่ต้องสงสัยอยู่ที่ 348,006 เคส ซึ่งแสดงถึงปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ที่รุนแรงและขยายวงกว้าง โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 19,000 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มอายุของผู้เสียหาย พบกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็น 9,800 เคส มูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท โดยผู้หญิงมีสัดส่วน 61.44% ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกขายสินค้า/บริการที่ไม่เป็นขบวนการ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนกลุ่มอายุ 20-49 ปี มีจำนวนสูงสุด 145,302 เคส มูลค่าความเสียหาย 8,223 ล้านบาท โดยผู้หญิงเป็นเหยื่อประมาณ 64.05% ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกโอนเงินเพื่อการหารายได้พิเศษ และการหลอกลงทุนออนไลน์

ขณะทึ่กลุ่มอายุ 50-64 ปี และ อายุ 65 ปีขึ้นไป คิดรวมเป็น 41,901 เคส มูลค่าความเสียหายรวม 7,769 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุนออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุยังคงมีความเสี่ยงสูงในการถูกหลอกในลักษณะนี้

ทั้งนี้พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่ม 20-49 ปี ซึ่งมีจำนวนเคสสูงถึง 145,302 เคส รองลงมาคือกลุ่ม 50-64 ปี โดยพบว่าคดีที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนี้คือ คดีหลอกโอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ และคดีหลอกลงทุนออนไลน์ บ่งบอกถึงความสนใจและความเชื่อมั่นในโอกาสในการหารายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มในวัยนี้ และทำให้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพ

ด้านช่องทางการหลอกลวงที่พบมากที่สุด พบว่าเป็นช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ เฟซบุ๊ก จำนวน 26,804 เคส คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 718 ล้านบาท ตามมาด้วย คอลเซ็นเตอร์ มี 22,299 เคส มีมูลค่าความเสียหาย 945 ล้านบาท รวมทั้งช่องทาง เว็บไซต์ (16,510 เคส, 1,148 ล้านบาท), ติ๊กต็อก (994 เคส, 65 ล้านบาท) และช่องทางอื่น ๆ (20,518 เคส, 1,262 ล้านบาท)

ขณะที่จังหวัดที่มีการรับแจ้งเหตุและระงับบัญชีมากที่สุด ได้แก่ กทม. แจ้งเหตุ 84,241 ครั้ง และระงับบัญชี 48,558 บัญชี สมุทรปราการ แจ้งเหตุ 17,853 ครั้ง และระงับบัญชี 10,968 บัญชี และนนทบุรี, ชลบุรี, ปทุมธานี ตามลำดับ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สถิติการแจ้งความคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในภาพรวมพบว่า สถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2567 ที่มีการแจ้งความคดีออนไลน์ 32,266 และ 29,579 คดี ซึ่งลดลงจากช่วง พ.ค.-ก.ค 67 ที่มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 35,000 คดี ต่อเดือน ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าเกิดจากการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้น จากการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ หลากหลายภาคส่วน

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here