ปรากฏการณ์หมีเนย vs หมูเด้ง สะท้อนคนไทยเครียดไม่รู้ตัว

0
25
kinyupen

หากเราโฟกัสเรื่อง “ปัญหาสุขภาพจิต” ของคนไทย ในหลายๆ งานวิจัยบอกตรงกันว่า คนไทยประสบปัญหาทางจิต มีความเครียดสูง และจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 เรื่องนี้มีความน่าสนใจ กินอยู่เป็น ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมาติดตามเรื่องนี้ไปพร้อมๆกัน แล้วมาดูกันว่า #หมีเนย กับ #หมูเด้ง เข้ามามีผลกับเรื่องนี้ยังไง

7 ประเด็นน่ากังวล แนวโน้มสุขภาพจิตในสังคมไทย

  1. แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก
  2. ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน (1 ตุลาคม 2566 – 22 เมษายน 2567) พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20%  และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา
  3. ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 1.2 หมื่นล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด
  5. สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ รวมกัน
  6. การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)
  7. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องพิเศษฉบับนี้ คือ “ความเครียด” จากสถิติและข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกันว่า คนไทยเครียดมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและมีการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มี 355,537 คน เพิ่มเป็น 358,267 คน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 2,730 คน อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2563 อยู่ที่ 5-6 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น 7.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564

กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 15-34 ปี ขณะที่ข้อมูลกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า ประชาชนมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 5.9 เท่า โดยส่วนใหญ่คนมุ่งดับอารมณ์แห่งความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่ได้มุ่งค้นหาสาเหตุหรือทางแก้เหตุ เช่น การใช้ความรุนแรง การเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบสุขภาพ อย่างการติดบุหรี่ เหล้า หรือใช้สารเสพติด

รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า คนแต่ละช่วงวัยมีต้นเหตุความเครียดแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปจะไม่แตกต่างมากนัก

1.วัยเด็กเป็นเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และการคบเพื่อน

2.วัยทำงานเป็นเรื่องสร้างฐานะ สร้างครอบครัว และดูแลคนในครอบครัว โดยพบปัญหาเสี่ยงหมดไฟ 57% หมดไฟ 12%

3.วัยสูงอายุเป็นเรื่องสุขภาพ การเงิน และความโดดเดี่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนดิ้นรน เปรียบเทียบ แก่งแย่ง ช่วงชิง และเบียดเบียนกันมากขึ้น เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่สุมให้อุณหภูมิความเครียดภายในสะสมสูงขึ้น จนกลายเป็นภาวะเรื้อรังของสังคมในศตวรรษที่ 21 ทั้งที่โลกเจริญด้วยเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบาย

.

ด้านคุณสุวิตา จรัญวงศ์’ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งของ Tellscore ผู้เชี่ยวชาญด้านอินฟลูเอนเซอร์ บอกว่า จากปรากฏการณ์น้องหมีเนย (butter bear) และหมูเด้ง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยอยู่ในภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัวและต้องการคอนเทนต์มอบความบันเทิง ทำให้เกิดความท้าทายกับ ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์‘ และ ’อินฟลูเอนเซอร์‘ ที่ต้องทำเนื้อหาให้สนุก แต่มีความรู้และโดนใจผู้ชมไปพร้อมกัน ขณะที่หลายคนที่ผันตัวไปเป็นแม่ค้าออนไลน์ก็จะต้องปิดการขายให้ได้ด้วย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน หรือ 71.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ 9 ล้านคน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 4.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นครีเอเตอร์แบบ Full-time กว่า 2 ล้านคน และครีเอเตอร์แบบ Part-time เช่น Micro-influencers ที่มีผู้ติดตามในช่วง 1,000-20,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทยมากกว่า 45,000 ล้านบาทในปี 2024

ก่อนจากกัน ผู้เขียนมี Meme หมีเนย หมูเด้งมาฝาก FC ทุกคน ดูแล้วอาจช่วยให้หายเครียดลงได้บ้าง นิดนึง….ก็ยังดี

.

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here